×

‘มนต์เพลงรักชักเย่อ’ กับ John Mayer ตอน Sob Rock ปริทัศน์ อัลบั้มเกือบใหม่ หัวใจสะออน

16.09.2021
  • LOADING...
John Mayer

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • น้าจอห์นต้องการให้อัลบั้ม Sob Rock เหมือนหลุดมาจากยุค 80 จริงๆ ชนิดที่ว่าเหมือนมันถูกผลิตส่งยี่ปั๊วซาปั๊วขายเทปในยุคนั้น แต่ถูกตั้งทิ้งไว้และกลับมาถูกค้นพบอีกทีในซอกหลืบของโกดังในวันเช็กสต๊อกปี 2021 จึงได้ถูกนำมาขึ้นแผงขายด้วยแพ็กเกจและอาร์ตเวิร์กเชยๆ ที่ถูกออกแบบในยุค 80
  • Sob Rock เป็นอัลบั้มแรกของเทพเจ้ากีตาร์คนนี้ที่เลือกจะไม่ใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีหลัก ไม่มีเพลงที่มีริฟฟ์กีตาร์เท่ๆ มาให้ฝึกเล่นเหมือน Neon, Gravity หรือ Slow Dancing in a Burning Room ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้น Sob Rock คือผลงานที่อบอุ่นและเข้าอกเข้าใจด้วยปัญญา แต่ยังคงความกวนอยู่เสมอ อันเป็นสิ่งที่เป็นลายเซ็นของน้าจอห์นอย่างขาดไม่ได้ในทุกอัลบั้ม
  • Sob Rock คือการปล่อยมุกตลกที่เล่นใหญ่สุดๆ ในทุกด้าน ทั้งภาพและเสียง โปรดักชันมาเต็ม และบุคลากรที่ใช้ก็เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของยอดกูรูจากยุค 80 ตัวจริงมาทั้งนั้น อาทิ Don Was โปรดิวเซอร์อัลบั้ม ที่เคยโด่งดังในฐานะศิลปินวง Was (Not Was) ในยุค 80 อีกทั้งยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลากหลายศิลปินในยุคนั้น เช่น Wham!, The B-52s, Bonnie Raitt และ Iggy Pop

John Mayer

 

เป็นเรื่องยากมากสำหรับศิลปินหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในวงการเพลงมายาวนาน ที่จะคงความใหม่สด ไม่หมดก๊อก มีที่ยืนหยัดข้ามผ่านกาลเวลามาได้ท่ามกลางกระแสโลกและกระแสโรคที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว แต่กลับดูเหมือนมันไม่ใช่เรื่องยากอะไรสำหรับคุณน้า ‘จอห์น เมเยอร์’ ในวัย 43 ปี กับสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 8 ที่มีชื่อว่า Sob Rock

 

แต่ถ้าจะกล่าวว่า Sob Rock คือความใหม่สดอย่างหมดจดนั้นก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะนี่คืออัลบั้มที่มีความเป็น 80 แบบสุดซอยอ่อนนุช (ต้องเป็นอ่อนนุช เพราะเป็นซอยที่ลึกมาก) และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีศิลปินหลายรายที่ดึงเอากลิ่นสีของยุค 80 มาประยุกต์ ตั้งแต่ Bruno Mars, The Killers, The 1975 มาจนถึงศิลปินฝั่งไทย เช่น POLYCAT หรือแม่ยอดพธูทรามวัยปิ๊งๆๆ อย่าง อิ้งค์ วรันธร (อีโมจิรูปหัวใจต้องมา) แต่ในกรณีของน้าจอห์นนั้นเรียกได้ว่ามีแนวคิดและกรรมวิธีที่แตกต่างสุดๆ เท่าที่ใครในโลกเคยทำมา

 

กล่าวคือ น้าจอห์นต้องการให้อัลบั้มนี้เหมือนหลุดมาจากยุค 80 จริงๆ ชนิดที่ว่าเหมือนมันถูกผลิตส่งยี่ปั๊วซาปั๊วขายเทปในยุคนั้น แต่ถูกตั้งทิ้งไว้และกลับมาถูกค้นพบอีกทีในซอกหลืบของโกดังในวันเช็กสต๊อกปี 2021 จึงได้ถูกนำมาขึ้นแผงขายด้วยแพ็กเกจและอาร์ตเวิร์กเชยๆ ที่ถูกออกแบบในยุค 80 นั่นแหละ

 

ภาพปกสีช้ำเลือดช้ำหนองกับภาพจอห์นยืนเต๊ะจุ๊ยราวกับ Glenn Frey ผู้ล่วงลับในวัยหนุ่ม และยังมีสติกเกอร์ ‘nice price’ เฉิ่มๆ ที่ต้นสังกัด Columbia Records เคยใช้แปะอยู่บนปกอัลบั้มลดราคาในร้าน Tower Record หรือ HMV บนชั้นวางซีดีและแผ่นเสียงในยุคนั้นด้วย ถ้าเป็นภาษานักเล่นวัตถุโบราณ เขาจะเรียกกันว่าเป็น New Old Stock (NOS) หรือของเก่าเก็บที่ไม่เคยถูกแกะกล่องมาก่อนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเสน่ห์ของมันคือทั้งกลิ่น, สี และวัสดุ ได้เก็บเอามวลสารทางอารมณ์จากเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน และได้เวลาพวยพุ่งกระฉอกแตกใส่หน้า ในขณะที่เรากำลังแกะบรรจุภัณฑ์อย่างเร้าใจ

 

 

Love it or Hate it – ไม่รักก็เกลียดเลย

ถ้าเป็นแฟนตัวจริงที่ติดตามผลงานของ จอห์น เมเยอร์ มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าทุกอัลบั้มของเขามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และจอห์นเองก็เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งในหลายวาระว่า เขาจะเริ่มต้นลงมือทำอัลบั้มใหม่ก็ต่อเมื่อได้คอนเซปต์ภาพรวมในหัวที่ชัดเจนแล้วเท่านั้นในทุกอัลบั้ม อย่างที่ผ่านมาเราก็เคยได้สัมผัสความหลุดไปในทุ่งหญ้าเขียวขจีกับบทเพลงประกอบฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรอย่างอัลบั้ม Paradise Valley ในปี 2013 ซึ่งได้แรงบันดาลใจในช่วงที่เขาป่วยและต้องพักงานเพื่อไปรักษาเส้นเสียงในบ้านพักที่อยู่ในชนบท

 

และในปี 2021 นี้ก็เช่นกัน น้าจอห์นพาเราหลุดยุคไปถึงช่วง 80 ที่อบอวลไปด้วย Guilty Pleasure และ Easter Egg ที่น้าแกวางไว้อย่างมันมือ แต่มุกเหล่านี้อาจจะส่งไปไม่ถึงคนอายุต่ำกว่า 35 ปี และยิ่งไปกว่านั้นน้องๆ วัย 20 กว่าๆ ก็คงงงว่านี่มันอะไรกันครับเนี่ย สังเกตได้จากที่เราเริ่มเห็นเสียงตอบรับด้านลบจากบทวิจารณ์ในสื่อต่างๆ รวมถึงคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในหมู่นักดนตรี แต่ก็เข้าใจได้ เพราะ Sob Rock เป็นอัลบั้มแรกของเทพเจ้ากีตาร์คนนี้ที่เลือกที่จะไม่ใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีหลักซะงั้น ไม่มีเพลงที่มีริฟฟ์กีตาร์เท่ๆ มาให้ฝึกเล่นเหมือน Neon, Gravity หรือ Slow Dancing in a Burning Room ฯลฯ

 

แต่ภายใต้ความเฉิ่มเบ๊อะครั้งนี้ แท้จริงแล้วเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่แสดงออกถึงตัวตนของน้าจอห์นได้มากที่สุดนับตั้งแต่เข้าสู่วงการตลก… เอ๊ย! วงการเพลงมา ความตลกร้าย, ความคัลท์ และความกล้าหาญ ทุกอย่างถูกสอดแทรกอยู่ในแต่ละแทร็กอย่างแยบยลโดยไม่ต้องพยายามจนเกินงาม

 

บทเพลงที่เหมือนจะฟังง่ายเกินความคาดหวังของแฟนๆ แต่แท้จริงแล้วมันผ่านกระบวนการคิดที่ล้ำลึกสุดโต่งกว่าหลายๆ อัลบั้มที่ผ่านมา และดูเหมือนน้าจอห์นเองจะเอนจอยในทุกขั้นตอนการทำงาน และภาคภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง เขากล่าวว่า ในระหว่างที่กำลังแต่งเพลงในชุดนี้ เมื่อมีไอเดียใดที่ผุดขึ้นมาในหัวแล้วทำให้ตัวเขาเองหัวเราะขึ้นมาได้ แสดงว่าไอเดียนั้นแหละจะต้องถูกเอามาใช้งานจริง ที่เขาหัวเราะออกมานั่นไม่ได้หมายความว่าไอเดียเหล่านั้นมันตลกนะ แต่มันเป็นอารมณ์ที่ว่า เฮ๊ย! นี่ข้าคิดออกมาได้ไงวะ ฮ่าๆๆ เอาเป็นว่าหลายคนคงเห็นความส่อแววในเส้นทางสายพระรามเก้าคาเฟ่จากเอ็มวีเพลง Moon Light อันลือลั่นตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเพลงนี้ก็ได้รวมอยู่ในอัลบั้มใหม่ชุดนี้เสียด้วย

 

 

และนี่ยังเป็นผลงานอันสอดคล้องกับการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของจอห์นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีออกมาไม่ขาดสาย จนถูกเรียกร้องจากแฟนๆ ว่าให้ทำรายการตลกเถอะ เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อของความตลกสายคัลท์ตัวจริง จึงเห็นได้ว่า Sob Rock เป็นอัลบั้มแนว 80 ที่ทำออกมาได้เป็นธรรมชาติ ไม่ขาด ไม่เกิน และยิ่งไปกว่านั้น น้าจอห์นยังมีเจตนาแอบแฝงอันลึกซึ้งซ่อนอยู่ข้างใน ซึ่งเมื่อเปิดเผยออกมาแล้วทุกคนจะต้องร้องว้าว (หรือไม่ก็ร้อง…) เขาสร้างผลงานออกมาอย่างไม่สนไม่แคร์เลยว่าจะโดนคนเกลียดในความเฉิ่ม จอห์นพูดเองว่า “ก็ผมตั้งใจจะให้เป็นผลงานที่ทำให้คนคิดว่ามันห่วยแตกไงล่ะ ตั้งแต่ชื่ออัลบั้มก็ชวนรู้สึกกระอักกระอ่วนแล้ว” ชื่อ Sob Rock แปลตรงตัวได้ว่า ‘ร็อกสะอื้นไห้’ แต่ถ้าจะแปลไทยเป็นไทยให้ได้อรรถรส มันควรจะแปลว่า ‘ร็อกสะออน’ ทีนี้พอเข้าใจรึยังล่ะว่าการใช้คำว่าสะออนในปี 2021 มันชวนให้รู้สึกเยี่ยงใด

 

 

John Mayer

 

ลึกซึ้งเหมือน Christopher Nolan เพราะมันคือหนังเรื่อง Inception ในภาคดนตรีชัดๆ

จอห์นได้ให้สัมภาษณ์กับ Apple Music ว่า อัลบั้มนี้เป็นเหมือนการทดลองทางจิตวิทยา โดยมีเป้าหมายคือการปลูกถ่ายความทรงจำผิดๆ ให้กับผู้ฟัง

 

อืม…ยังไงนะ?

 

มันคือการสร้างอดีตอันบิดเบือนที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ดลให้เกิดความลังเลเขวไขว้ให้คนฟังเข้าใจว่า เพลงเหล่านี้เป็นเพลงในอดีตจากยุค 80 จริงๆ ทั้งๆ ที่มันถูกผลิตออกมาในปี 2021 นี่เอง โดยแอบสอดแทรกสิ่งที่จอห์นอยากให้เป็นเข้าไปด้วยแบบเนียนๆ

 

ไอเดียนี้ชวนให้เรานึกถึงภารกิจของกลุ่มจารชนจากภาพยนตร์เรื่อง Inception อย่างมาก ที่พวกเขาแอบเข้าไปบิดเบือนจิตใต้สำนึกของบุคคลคนหนึ่ง โดยการดอดเข้าไปในความฝันชั้นลึกสุดเพื่อลักลอบปลูกถ่ายจิตใต้สำนึกอันใหม่ขึ้นมา จนมีผลต่อความนึกคิดและการตัดสินใจในโลกของความจริงในที่สุด …ล้ำวะ จอห์นเองได้กล่าวว่า เขาอยู่ในวงการเพลงมาเนิ่นนานแล้ว การคิดอะไรแค่ชั้นเดียวมันช่างน่าเบื่อและไม่ท้าทายเอาเสียเลย เขาเลยลงเอยด้วยการจัดวางชั้นความคิดในหลายระดับซ้อนกันไปคล้ายกับซีรีส์เรื่อง Black Mirror จนออกมาเป็น Sob Rock ที่เราๆ ท่านๆ ได้ฟังกัน

 

แต่อย่างไรก็ตาม จากบทสัมภาษณ์ จอห์นได้อ้างอิงถึงไอเดียที่ได้มาจากภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ Once Upon A Time In Hollywood ที่กำกับโดย Quentin Tarantino ที่สอดแทรกเหตุการณ์ตามใจ นึกเข้าไปปะปนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และยังแอบบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้เป็นไปตามที่ Quentin Tarantino เองอยากให้เกิดขึ้นแทนเรื่องจริงเสียด้วย ดังนั้นผู้ที่จะสามารถเอนจอยและเข้าใจแก๊กของหนังเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่งและอิ่มเอมไปกับมันครบทุกมุก ย่อมต้องเป็นผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ป๊อบคัลเจอร์ของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดในยุคนั้น

 

เช่นเดียวกับกรณีของ จอห์น เมเยอร์ กับ Sob Rock ผู้ฟังที่สนุกและอินที่สุดคงต้องไม่พ้นกลุ่มนักฟังเพลงตัวยงที่อยู่กับเสียงเพลงมาตั้งแต่ทศวรรษที่บทเพลงยังมีทำนองอยู่ และเข้าใจถึงที่มาที่ไปอันจะประคองให้ปูชนียมุกของเฮียจอห์นไม่แป้กในที่สุด และเห็นคุณค่าแห่งความคัลท์ของสถาปัตยกรรมทางความคิดชิ้นเอกจากอัลบั้มชุดนี้ ยิ่งทำให้เราอดแอบคาดการณ์ถึงเสียงตอบรับอันแตกต่างจากคนต่างเจเนอเรชันไม่ได้ ชุดนี้อาจได้ใจชาว Gen X ไปเต็มๆ เพราะมันเรียกพลังวัยรุ่นในตัวพวกเขาให้หวนกลับคืนมา ส่วนชาว Gen Y ครึ่งแรกคงมีอาการสับสนปน Nostalgia ว่านี่มันเป็นเพลงที่เคยฟังสมัยเด็กๆ รึเปล่าวะ และ Gen Y ครึ่งหลังค่อนไปทางปลาย คงตกเป็นเหยื่อการทดลองเกมจิตวิทยาแห่งการปลูกถ่ายความทรงจำแบบผิดๆ ของน้าจอห์น เข้าไปเต็มๆ จนมาถึง Gen Z คงไม่เข้าใจโดยสิ้นเชิง แล้วกลับไปฟังคีตกรรมแบบตัดแปะที่คุ้นเคยแบบเดิม

 

ปล. เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน กับการเปิดเพลงชุดนี้ในขณะที่ขับรถพาคุณแม่วัย 73 ปี ไปฉีดวัคซีน อยู่ดีๆ แม่ก็พูดขึ้นมาว่า “แหม นี่เปิดเพลงยุคแม่เลยนะ” เรารู้สึกขนลุกขึ้นมาทันที เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าเวทมนตร์ของจอห์นมันเวิร์กจริงๆ วะ มันสามารถเล่นกลกับทรงจำสีจางๆ ของชาว Baby Boomers ได้จริงๆ เราถามกลับว่า “แล้วทำไมถึงคิดว่าเป็นเพลงยุคแม่ล่ะ” แม่ตอบว่า “ก็แม่ฟังรู้เรื่องอะ ถ้าเป็นเพลงสมัยใหม่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย”

 

มาเจาะเข้าเพลงกันเถอะ

Sob Rock คือการปล่อยมุกตลกที่เล่นใหญ่สุดๆ ในทุกด้าน ทั้งภาพและเสียง โปรดักชันมาเต็ม และบุคลากรที่ใช้ก็เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของยอดกูรูจากยุค 80 ตัวจริงมาทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ Don Was โปรดิวเซอร์อัลบั้ม ที่เคยโด่งดังในฐานะศิลปินวง Was (Not Was) ในยุค 80 อีกทั้งยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลากหลายศิลปินในยุคนั้นจากตำแหน่งโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง เช่น Wham!, The B-52s, Bonnie Raitt และ Iggy Pop นอกจากนั้น จอห์นยังขุดเอานักดนตรีออริจินัลจากยุค 80 มาร่วมบันทึกเสียงด้วยอีกหลายชีวิต เพราะนี่คือภารกิจปลูกถ่ายความทรงจำที่จริงจังจัดๆ

 

 

เปิดมาเพลงแรก Last Train Home ซึ่งเป็นซิงเกิลเปิดอัลบั้มด้วย น้าจอห์นก็เริ่มกระบวนการปลูกถ่ายความทรงจำอันผิดเพี้ยนทันทีตั้งแต่เข้าอินโทร เสียงกลองใหญ่ๆ ฟุ้งๆ ราวกับซาวด์แทร็กภาพยนตร์เรื่อง Top Gun หน้าของ Tom Cruise ในวัยละอ่อนลอยมาเลยทีเดียว เสียงซินธ์ที่เป็นริฟฟ์หลักนี่มันคุ้นๆ จังหนอ… อ่อ มันพาเราหวนนึกถึงเพลงฮิตในอดีตของวง TOTO อย่าง Africa นี่หว่า ทั้งวลีและสุ้มเสียงที่ใช้นี่ล้อเลียนกันชัดๆ แต่ที่แสบสุดคือมือคีย์บอร์ดที่น้าจอห์นดึงเอามาเล่นท่อนริฟฟ์นี้ก็คือ Greg Phillinganes ผู้ที่เคยเล่นคีย์บอร์ดในการออกทัวร์ของ TOTO ตัวจริงเสียงจริงนั่นเอง

 

Greg Phillinganes ยังพ่วงเครดิตมากมายจากผลงานของ Michael Jackson, Stevie Wonder, Donna Summer และ Barbra Streisand ในยุครุ่งเรือง (ก็คือ 80s นั่นแหละ) และต่อมาในซิงเกิลล่าสุดอย่าง Wild Blue น้าจอห์นแกก็ซัดต่อเนื่องกับกรู๊ฟย้อนยุคแบบเพลง Sultans of Swing จากวง Dire Straits ซะอย่างงั้นเลย กับเอ็มวีที่มีอาร์ตไดเรกชันที่ยังยึดมั่นกับธีม 80 และเสื้อสูทตัวใหญ่โคร่งตัวนั้น ราวกับน้าจอห์นแกแอบยืมมาจากลุง George Michael ในยุคที่อยู่วง Wham! หรือลุง Rick Astley มาเข้าฉากยังไงยังงั้น

 

 

ภาพรวมของอัลบั้มมันช่างกลมกล่อมละมุนเหลือเกิน ยังมีอีกหลายเพลงเด่นที่มีศักยภาพให้นำมาโปรโมตเป็นซิงเกิลถัดไป ถ้าให้เดาปนภาวนา ก็น่าจะเป็นเพลง Why You No Love Me? ซึ่งมีความลงตัวไปหมด ตั้งแต่เสียงกีตาร์ติดเอฟเฟกต์คอรัสหวานฉ่ำตามสไตล์เพลงบัลลาดยุค 80 ที่พาให้เรานึกถึง Bryan Adams หรือเพลงช้าของวง Def Leppards ประกอบกับชื่อเพลงที่ชวนสะดุดให้เกาหัวแกรกๆ กับไวยากรณ์ที่ใช้

 

โดยจอห์นอธิบายว่าการใช้รูปประโยคว่า Why you no love me? เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ Why don’t you love me? มันคือการแสดงออกถึงกิริยาอันฟูมฟายร่ำไห้เซ้าซี้เหมือนเด็กๆ ของชายผู้ถูกคนรักทิ้งไป และยังแอบสอดใส่คำคมราวกับนักปรัชญาในท่อนที่ว่า “Hurt me once, I’ll let it be. Hurt me twice, you’re dead to me. Three times makes you family”

 

ที่หมายความว่า “หากเธอทำฉันเจ็บครั้งแรก ฉันจะไม่ถือสาอะไร, แต่ถ้าทำเจ็บครั้งต่อไป ฉันจะเมินใส่ราวกับเธอนั้นไร้ตัวตน, แต่ถ้าเจ็บครบสามหน เธอก็จะเป็นเหมือนคนในครอบครัว” นี่คือความผูกพันที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากความเจ็บไปเจ็บมาทุกวัน เจ็บจนใจล้ามาเป็นปีก็ทน แต่เธอก็ยังคงจากไปไม่เหลียวแล มันคือเพลงอกหักจริงจังดีๆ นี่เอง

 

อีกบทเพลงที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นซิงเกิลก็คือ It Shouldn’t Matter But It Does ที่มีความเรียบง่ายแต่ความหมายสุดลึกซึ้ง นั่นก็คือเราทุกคนต่างมีความผูกพันฝังใจกับรอยแผลเป็นในจิตใจไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร และเมื่อไรที่หันกลับไปมองมัน ยังไงก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวนระลึกถึงเหตุการณ์นั้น แต่สิ่งเดียวที่สามารถลบรอยแผลอันนั้นออกไปได้อย่างหมดจด ก็คือการที่คู่กรณีที่เคยสร้างรอยแผลนั้นกลับมาช่วยทำแผลเยียวยาให้

 

หรือกล่าวแบบตรงๆ ก็คือ เมื่อเขากลับมากล่าวขอโทษเราอย่างจริงใจ มันเหมือนยาวิเศษที่ช่วยลบเลือนรอยแผลที่คาไว้เป็นสิบปีให้คลายหายไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำรึเปล่า? นี่ไม่ใช่คำแปลตรงตัว แต่เป็นคอนเซปต์ที่น้าจอห์นได้มาจากการตื่นรู้ในช่วงวัย 40+ และนำมาถ่ายทอดเป็นเพลงนี้ แต่ละบรรทัดของเนื้อเพลงที่ไล่เรียงมาถึงกับทำเอาเราน้ำตาซึม เพราะมันช่างจริงเหลือเกิน

 

John Mayer

 

ไม่ใช่มือกีตาร์ที่แต่งเพลงได้ แต่เป็นนักแต่งเพลงที่เล่นกีตาร์เก่ง

อันที่จริง ศิลปินอย่าง จอห์น เมเยอร์ ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ Singer-Songwriter มาตั้งแต่แรก ซึ่งหมายความว่าบทบาทในฐานะคนเขียนเพลงของเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าการร้องเพลงหรือการเล่นเครื่องดนตรีเลยสักนิด แต่ด้วยความสามารถในการเล่นกีตาร์ของเขานั้นโดดเด่นมากมาตั้งแต่ผลงานชิ้นแรก เหล่าแฟนบอยโดยเฉพาะพวกนักดนตรีหลายคน จึงมุ่งโฟกัสแต่เรื่องของเทคนิคและอุปกรณ์กีตาร์ของเขาอย่างบ้าคลั่งมาโดยตลอด ยิ่งในบ้านเราที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จึงพลาดอรรถรสกันไปอย่างน่าเสียดาย ต่อให้คลั่งไคลน้าจอห์นถึงขนาดฝึกเล่นลูกโซโลกีตาร์ยากๆ ของแกได้ทุกเพลง ก็ยังถือว่ารู้จักน้าจอห์นแค่ครึ่งเดียวถ้ายังไม่ได้เข้าถึงเนื้อหาของเพลง

 

ในขณะที่ภาคดนตรีของแต่ละอัลบั้มแสดงถึงความหลากหลายของไอเดียที่ไม่มีวันหมดก๊อก แต่ในภาคเนื้อเพลงของจอห์นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดความอ่าน ไล่เรียงมาในทุกช่วงชีวิตอย่างชัดเจน ตั้งแต่ความเป็นวัยรุ่นมุทะลุในอัลบั้มแรก และการเหินเวหาทะยานอัตตาในอัลบั้มถัดๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่ความสำเร็จนำพาอีโก้อันล้นทะลักมาเบียดเบียนคุกคามผู้อื่นด้วยบทเพลง จนกระทั่งเริ่มเรียนรู้ที่จะผ่อนปรน ค่อยๆ เอาตนออกจากศูนย์กลางจักรวาล และมาถึงจุดที่กลมกล่อมทางประสบการณ์อย่างที่ได้สะท้อนออกมาในอัลบั้ม Sob Rock ผลงานที่อบอุ่นและเข้าอกเข้าใจด้วยปัญญา แต่ยังคงความกวนอยู่เสมอ อันเป็นสิ่งที่เป็นลายเซ็นของน้าจอห์นอย่างขาดไม่ได้ในทุกอัลบั้ม

 

และนี่คือความตื่นเต้นล่าสุดจาก จอห์น เมเยอร์ ผู้ที่กล้าเปลี่ยนแนวทางมาทุกอัลบั้มอย่างไร้ความกดดันจากความสำเร็จของผลงานในอดีต ตั้งแต่เริ่มออกอัลบั้มแรกในปี 2001 ผ่านเหล่ายุคที่เต็มไปด้วยศิลปิน Nu-Metal มา 20 ปี จนวงเหล่านั้นแยกย้ายกันไปหมดแล้ว และจอห์นยังคงวนเวียนอยู่กับเวทีแกรมมี่ อวอร์ดส์ อย่างต่อเนื่องบ่อยครั้งราวกับเข้าเซเว่น ความคิดเห็นจากหลายบุคคลเกี่ยวกับอัลบั้ม Sob Rock อาจแตกออกไปหลายทาง แต่ข้อเท็จจริงคือ Sob Rock เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทุกมิติ เข้าขั้น New High ของจอห์น จนอาจทำให้ตัวเขาเองเกิดแรงกดดันกับตัวเองขึ้นเป็นครั้งแรกในการเริ่มลงมือทำอัลบั้มชุดต่อไปก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising