×

ส่องแผนไบเดน กระตุ้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แก้ปัญหารายใหญ่ผูกขาด ราคาเนื้อหมู-เนื้อวัวแพง

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2022
  • LOADING...
โจ ไบเดน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า สหรัฐอเมริกาจะออกกฎข้อบังคับใหม่ พร้อมจัดสรรเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพื่อสนับสนุนเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และผู้แปรรูปเนื้อสัตว์อิสระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ปัญหาการขาดการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ 

 

แผนการดังกล่าวเกิดจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า บริษัทเนื้อวัว เนื้อหมู และสัตว์ปีกรายใหญ่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในสหรัฐฯ มีอำนาจควบคุมตลาดเนื้อสัตว์ในประเทศมากเกินไป ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถกำหนดราคาขายส่งและขายปลีก ในขณะที่ผลกระทบไปตกอยู่กับซัพพลายเออร์และลูกค้า

 

“ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันไม่ใช่ทุนนิยม หากแต่เป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว” ไบเดนกล่าว “นั่นคือสิ่งที่เราเห็นในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกในขณะนี้”

 

จากการวิเคราะห์ของทำเนียบขาวเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า บริษัทชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ 4 อันดับแรกของสหรัฐฯ ได้แก่ Cargill, Tyson Foods Inc., JBS S.A. และ National Beef Packing Company ควบคุมตลาดสุกร โคกระบือ และไก่ ในสัดส่วน 55-85%

 

ทอม วิลแซก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กล่าวในงานเดียวกับไบเดนว่า กระทรวงเกษตรจะใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์จากกองทุน American Rescue Plan เพื่อขยายภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์อิสระ ซึ่งรวมถึงการตั้งกองทุนเพื่อจัดหาเงินอุดหนุน การค้ำประกันสินเชื่อ และการฝึกอบรมแรงงาน 

 

นอกจากนี้ USDA ยังจะเสนอให้มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย Packers and Stockyards Act และทำให้ฉลาก ‘Product of USA’ ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มีความชัดเจนขึ้น หลังจากที่เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ภายในประเทศแสดงความไม่พอใจว่าบริษัทข้ามชาติมีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศสามารถติดฉลาก ‘Product of USA’ ได้หากเป็นเนื้อสัตว์ที่แปรรูปภายในสหรัฐฯ แม้หมูหรือวัวไม่ได้ถูกเลี้ยงหรือชำแหละในสหรัฐฯ ก็ตาม

 

ด้าน เมอร์ริก การ์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมในกลุ่มอุตสาหกรรมมากเกินไป ขณะที่หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ

 

ทั้งนี้ ราคาเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ทำเนียบขาวกำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยสภาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าบริษัทชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ 4 ราย มีกำไรขั้นต้นพุ่งขึ้นถึง 120% นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ออกมาโต้แย้งว่า ข้อมูลวิเคราะห์ของทำเนียบขาวไม่ถูกต้อง ทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์แผนกระตุ้นการแข่งขัน โดย ไมค์ บราวน์ ประธานสภาไก่แห่งชาติ (National Chicken Council) ระบุว่าแผนการดังกล่าวไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด

 

ซาราห์ ลิตเติล โฆษกสถาบันเนื้อสัตว์แห่งอเมริกาเหนือ (North American Meat Institute) กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่สุดของอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ แต่แผนการของทำเนียบขาวไม่ได้แก้ปัญหานี้

 

ขณะที่ ปีเตอร์ คาร์สเตนเซน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และอดีตทนายความด้านการต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์อิสระจะไม่ช่วยแก้ปัญหาการกระจุกตัวของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับ ออสติน เฟรริก รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการต่อต้านการผูกขาด Thurman Arnold Project แห่งมหาวิทยาลัยเยล ที่กล่าวว่า แผนการของฝ่ายบริหารของไบเดนยังไม่มากพอที่จะลดอำนาจของบริษัทชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่

 

“ผมไม่เชื่อว่าแผนการนี้จะลดการกระจุกตัวลงได้อย่างมีนัย” เขากล่าว

 

อย่างไรก็ดี เอริก ดีเบิล ผู้อำนวยการนโยบายของเครือข่ายเกษตรยั่งยืนแห่งชาติ (National Sustainable Agriculture Coalition) ขานรับแผนดังกล่าวของทำเนียบขาว เพราะจะช่วยรับประกันว่าเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มจะได้รับราคาที่ยุติธรรม

 

ภาพ: Ken Cedeno-Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X