ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวเปิดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยผ่านระบบออนไลน์ในวันพฤหัสบดี (9 ธันวาคม) โดยเรียกร้องผู้นำโลกจากกว่า 100 ชาติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมให้ช่วยกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งระบุว่า การปกป้องสิทธิและเสรีภาพท่ามกลางลัทธิอำนาจนิยมที่แผ่อิทธิพลเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นความท้าทายแห่งยุค
ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย หรือ ‘Summit for Democracy’ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน และถือเป็นครั้งแรกของโลกสำหรับการจัดประชุมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เสรีภาพทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากผู้นำเผด็จการที่ต้องการขยายอำนาจ เผยแผ่อิทธิพล และทำให้การปราบปราม กดขี่ข่มเหงประชาชนกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
“ผมคิดว่าเรายืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ เราจะปล่อยให้สิทธิและประชาธิปไตยที่กำลังถอยหลังดำเนินต่อไปโดยไม่ตรวจสอบ หรือเราจะร่วมกันนำความก้าวหน้าของมนุษย์และเสรีภาพของมนุษย์ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์และความกล้าหาญ?” ไบเดนกล่าว
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบของไบเดนว่าจะสามารถทำตามที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในระหว่างแถลงนโยบายต่างประเทศเป็นครั้งแรกว่า เขาจะนำพาสหรัฐอเมริกากลับมาทวงบัลลังก์ผู้นำโลกในการเผชิญหน้ากับเผด็จการ หลังจากที่สถานะดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกทำลายภายใต้การปกครองของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
“ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และเราต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ในแต่ละรุ่น” เขากล่าว “ในความเห็นของผม นี่คือความท้าทายที่จะกำหนดยุคของเรา”
สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสากล (International Institute for Democracy and Electoral Assistance: IDEA) เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า ประเทศที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในอันตรายนั้นมีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยระบุถึงการทำรัฐประหารในเมียนมา อัฟกานิสถาน และมาลี และการถอยหลังของประชาธิปไตยในฮังการี บราซิล และอินเดีย
ด้านทำเนียบขาวเปิดเผยว่า กำลังทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อสนับสนุนงบประมาณ 424.4 ล้านดอลลาร์ในการจัดตั้งโครงการสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนสื่อเสรี
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวกับที่ประชุมว่า หน่วยงานของเธอกำลังปราบปรามการฟอกเงิน การเงินที่ผิดกฎหมาย และการหนีภาษี “อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงที่น่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลที่เสรีและยุติธรรมของต่างประเทศได้ หากว่าในเวลาเดียวกันนั้น เรายอมให้คนรวยละเมิดกฎหมายของเราเองโดยไม่ต้องรับโทษ” เยลเลนกล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำจาก 111 ชาติได้รับเชิญเข้าร่วม รวมถึงไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับปักกิ่งเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า การเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็น ‘เครื่องอำพรางและเครื่องมือในการผลักดันเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ กดขี่ประเทศอื่น ทำให้โลกแบ่งแยก และทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง’ เท่านั้น
ขณะที่ผู้นำจีนรวมถึงรัสเซียซึ่งมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในประเด็นต่างๆ มากมาย ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวปฏิเสธคำวิจารณ์ โดยระบุว่า “เราไม่ได้มองว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ เราเน้นย้ำในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่าเรากำลังพยายามสร้างแรงผลักดันให้กับระบอบประชาธิปไตย” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images
อ้างอิง: