ก่อนหน้าจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เคยเป็นอะไรหลายอย่างมาแล้วในชีวิต
ในวัยทำงานเขาผ่านการเป็นนักกฎหมายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาที่อายุน้อยที่สุดของสหรัฐอเมริกาด้วยวัยเพียง 30 ปี ซึ่งเขาอยู่ในบทบาทนี้มาเป็นระยะเวลาถึง 36 ปี ก่อนจะก้าวมาเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2008 และดำรงตำแหน่งนี้สองสมัย ในการทำงานร่วมกับ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดี
สิ่งเหล่านี้หลายคนน่าจะพอรู้แล้วจากเรื่องราวแง่มุมต่างๆ ในชีวิต
แต่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินว่าไบเดน เคยเป็นนักกีฬาที่เก่งกาจมาก่อน
ในสมัยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนอาร์คเมียร์ อคาเดมี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดให้เตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย นอกเหนือจากการเรียนแล้ว กีฬาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไบเดนทุ่มเทอย่างจริงจังไม่น้อย
เพราะการเล่นกีฬาสำหรับเขาแล้วมันคือช่วงเวลาที่เขาได้เป็นตัวของตัวเองที่สุด และในเวลาเดียวกันกีฬาก็เป็นเหมือน ‘ใบเบิกทาง’ ที่ช่วยให้เขาได้เข้าสังคมกับเพื่อนด้วย
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไบเดนเป็นคนมีปัญหาในเรื่องของการพูดติดอ่างในวัยเด็ก และมันกลายเป็นที่มาของสมญาของเขา ‘Dash’ ที่ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนที่มีความว่องไวที่สุดในสนาม (แต่เขาก็เป็นคนที่ว่องไวไม่น้อย!) แต่หมายถึงการพูดติดอ่างของเขา ซึ่งไม่ใช่สมญาที่ดีเลย
เพียงแต่การพูดติดอ่างไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการวาดลวดลายในสนาม!
“ในขณะที่ผมไม่มีความมั่นใจในเรื่องทักษะของการสื่อสารด้วยคำพูด ผมมีความมั่นใจในเรื่องทักษะทางการเล่นกีฬาของผมเสมอ” ไบเดน เขียนเล่าเรื่องชีวิตนักกีฬาของเขาเอาไว้ในบันทึก Promises to Keep: On Life and Politics
“กีฬาเป็นธรรมชาติของผม ในขณะที่การพูดไม่ใช่สิ่งที่ผมทำได้เป็นธรรมชาติเลย และกีฬาก็กลายเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ผมได้รับการยอมรับและได้มากกว่านั้น”
โจ ไบเดน กับบันทึกผลงานในปี 1960 ของเขาที่พาทีมอาร์คเมียร์ไร้พ่าย
การเล่นกีฬาทำให้ไบเดนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น และการเล่นกีฬาก็เป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายเลือดนักสู้ในตัวของเขา
“ผมไม่ใช่คนที่จะยอมโดนข่มในเกม ดังนั้นต่อให้ผมพูดติดอ่างผมก็เป็นเด็กที่พร้อมจะตะโกนบอกคนอื่นเสมอว่า ‘ส่งบอลมาให้ผม’”
กีฬาโปรดของเขาคืออเมริกันฟุตบอล โดยไบเดนรับบทฮาล์ฟแบ็กและปีกนอก (Wide Reciever) ซึ่ง อี.จอห์น วอลช์ อดีตโค้ชของเขาได้เคยให้สัมภาษณ์เล่าความหลังเมื่อครั้งไบเดนเป็นลูกทีม กับหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยบอกว่าไบเดน คือ “หนึ่งในตัวรับบอลที่ดีที่สุดที่ผมเคยคุมทีมตลอด 16 ปี”
ในช่วงที่วอลช์เข้ามารับตำแหน่งโค้ชใหญ่ของทีมอาร์คเมียร์ในปี 1960 ช่วงนั้น และได้เปลี่ยนแปลงทีมที่ไม่เคยชนะเกิน 2 นัดในช่วงเวลากว่า 12 ปีให้กลายเป็นทีมที่พิชิตแชมป์ในระดับคอนเฟอเรนซ์ได้ด้วยสถิติชนะรวด 8-0 เกม ไม่แพ้ใครแม้แต่เกมเดียว หนึ่งในเหตุผลคือการที่เขามีไบเดนอยู่ในทีม
และนั่นเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เขาภาคภูมิใจที่สุด เป็นความทรงจำที่ล้ำค่าที่สุดช่วงหนึ่ง และสายสัมพันธ์กับวอลช์ ผู้เป็นโค้ชก็ยืนยงชั่วชีวิต
คำสอนของโค้ชเก่าเป็นสิ่งที่เขาจำขึ้นใจเสมอ “วอลช์พยายามกระตุ้นให้เราเล่นในแบบเดียวกับที่เราต้องการใช้ชีวิต คือการเล่นด้วยความรู้สึกที่ร้อนแรงและเต็มที่”
อีกสิ่งที่โค้ชสอนคือ “ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน โค้ชจะย้ำเสมอว่าสิ่งแรกที่คุณต้องรู้คือคุณเป็นเพื่อนร่วมทีมของคนอื่นด้วย”
ทั้งนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้สานต่อชีวิตนักกีฬาอย่างสมบูรณ์นักเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ เพราะมีปัญหาเรื่องเกรดที่ต่ำจนได้รับการร้องขอจากพ่อแม่ให้สนใจการเรียนก่อนการเล่นกีฬา และเมื่อกลับมาเล่นได้ไม่นานก็พบรักกับ นีเลีย ฮันเตอร์ ที่ต้องเลือกระหว่างความรักและกีฬา ซึ่งเขาเลือกความรักและลาออกจากทีมอเมริกันฟุตบอล
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬาคือหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่ค้ำยันชีวิตของเขา
จนถึงวันนี้ที่ได้เป็นบุรุษหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.thedp.com/article/2020/08/joe-biden-penn-athletics-football-archmere-2020-election-delaware
- www.sportscasting.com/joe-biden-was-once-a-solid-football-player-and-led-his-team-to-an-improbable-undefeated-season/
- ในปี 2012 ไบเดนถูกเชิญให้มามอบรางวัลแก่ อี.จอห์น วอลช์ ที่ได้รับเลือกให้เข้าสู่หอเกียรติยศของเดลาแวร์ และได้พบกับเพื่อนร่วมทีมเก่าในวันวานอีกครั้ง
- ไบเดน เคยมีประเด็นเรื่องข้อมูล (ความจำ) ที่ผิดพลาดในระหว่างการหาเสียงที่โอไฮโอในปี 2012 โดยบอกว่าครั้งสุดท้ายที่เขามาเยือนเอเธนส์เป็นเกมระหว่างเดลาแวร์พบทีมโอไฮโอในปี 1963 และเดลาแวร์ของเขาชนะไป 29-12 ซึ่งแม้สกอร์จะถูกแต่เรื่องผิด เพราะเขาไม่ได้เล่นในทีมชุดนั้น
- หลังจากที่ทิ้งการเล่นกีฬาเพื่อเลือกปลูกต้นรักกับ นีเลีย ฮันเตอร์ ทั้งสองได้แต่งงานกันในปี 1966 แต่นีเลีย และบุตรสาวเอมี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในอีก 6 ปีต่อมา