วานนี้ (20 กรกฎาคม) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เขาวางแผนที่จะยกหูเจรจากับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ภายในช่วงสิ้นเดือนนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองชาติที่ยังคงคุกรุ่น ทั้งด้านประเด็นการค้าและกิจการเกี่ยวกับไต้หวัน
ไบเดนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาวางแผนจะหารือทางโทรศัพท์กับสีภายในช่วง 10 วันข้างหน้า แต่ไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผลหรือหัวข้อในการสนทนา ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนก็ยังไม่ได้ออกมาตอบคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม หากการหารือครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะถือได้ว่าเป็นการสนทนาในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ และจีน กำลังเผชิญกับความตึงเครียด ทั้งในด้านสถานะของไต้หวันและการที่รัฐบาลไบเดนกำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้ตั้งคำถามด้วยว่า แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ควรเดินทางเยือนไต้หวันในฤดูร้อนนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งไบเดนกล่าวว่า “กองทัพมองว่าเวลานี้อาจจะยังไม่เหมาะสม แต่ผมเองไม่ทราบสเตตัสล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว”
ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ Financial Times ตีข่าวว่า เปโลซีวางแผนเดินทางไปยังไต้หวันในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่สหรัฐฯ ส่งผู้แทนในระดับประธานสภาผู้แทนราษฎรเยือนไต้หวัน อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับจีนอย่างมาก โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 กรกฎาคม) จีนออกมากล่าวว่า ทางการพร้อมใช้ ‘มาตรการที่รุนแรงและเด็ดเดี่ยว’ หากสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งผู้แทนมายังไต้หวัน เนื่องจากมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของจีน
ถึงแม้ทั้งสองชาติจะปะทะคารมกันอยู่บ่อยครั้ง และสหรัฐฯ เองก็เรียกจีนว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์หลัก แต่ผู้นำสหรัฐฯ มองว่า การเจรจากันนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีเสถียรภาพ และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งถลำลึกลงไปมากกว่าเดิมโดยไม่ได้ตั้งใจ
ครั้งล่าสุดที่ทั้งสองผู้นำได้สนทนากันผ่านโทรศัพท์คือเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังรัสเซียตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าบุกยูเครน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนปฏิเสธที่จะเรียกการกระทำของรัสเซียว่าเป็นการรุกรานอธิปไตยของต่างชาติ
ภาพ: Joseph Prezioso / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: