×

แผนฟื้นฟูฯ JKN ส่อสะดุด ผู้บริหารคาดมีโอกาสถูกซื้อกิจการแบบ Hostile Takeover หลังวอลุ่มเทรดช่วง 10 วันที่ผ่านมาผิดปกติมาก

29.11.2023
  • LOADING...
JKN

JKN เปิดไทม์ไลน์ขั้นตอนและกรอบเวลาทำแผนฟื้นฟูกิจการ หากศาลล้มละลายมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ มีเวลา 5-8 ปี ในการดำเนินการเพื่อให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คาดเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงเดือนมกราคม 2568 

 

พิสมัย ลิขิตอำนวย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป  หรือ JKN แถลงให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงแนวทางแก้ไขเหตุที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จากการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการว่า ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทําให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้มีหลายกรณี ประกอบด้วย กรณีที่คาดว่าบริษัทมีโอกาสถูกซื้อกิจการรูปแบบการครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) จากนักลงทุนบางกลุ่มหรือไม่ หลังวอลุ่มการซื้อขายของหุ้น JKN ในช่วง 10 วันที่ผ่านมามีความผิดปกติอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมการรับมือและแผนงานต่างๆ ไว้ตามสมควร บริษัทต้องเผื่อไว้ทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้

 

นอกจากนี้ ยังอาจมีกรณีอุปสรรคจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชําระหนี้ร่วมกัน ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจจากธุรกิจคอนเทนต์ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทเตรียมไว้ การหาพันธมิตรนักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน และสภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ

 

ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้เข้าแผนฟื้นฟูฯ

 

  • ด้วยปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากทุกเจ้าหนี้เรียกร้องให้จ่ายคืน บริษัทจะไม่มีเงินสดเพียงพอดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 
  • อาจต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้องจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลาย จะทําให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก 
  • หุ้น JKN จะไม่มีมูลค่า ทําให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 
  • หากบริษัทต้องปิดดำเนินกิจการ หรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัท

 

ผลจากการยื่นคําร้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

 

  • บริษัทยื่นคําร้องฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และศาลได้รับคําร้องฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 และศาลนัดไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 
  • บริษัทได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องและฟ้องร้อง (Automatic Stay) จนถึงวันที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทําให้บริษัทสามารถเตรียมแนวทางต่างๆ เพื่อวางแผนชําระหนี้ได้ 
  • บริษัทจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้จัดจําหน่ายหุ้นกู้ 
  • เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชําระหนี้อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย และบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งทําให้บริษัทยังรักษาคนและธุรกิจ อีกทั้งมีเวลาในการปรับตัวและพูดคุยกับคู่ค้า และเจ้าหนี้การค้าเพื่อทําธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้ทําแผนตามที่เสนอในคําร้องขอฟื้นฟูฯ

 

  • บริษัทได้เสนอให้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป เป็นผู้ทําแผนโดยอํานาจ หน้าที่และสิทธิของผู้ทําแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะตกแก่ผู้ทําแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทําแผน มีดังนี้ 
  1. อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท 
  2. บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัท ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
  3. อํานาจในการจัดทําแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท 

 

  • การทําธุรกิจคอนเทนต์มีความเฉพาะเจาะจง และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินธุรกิจนี้มีผลกําไรมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทจึงมีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทําธุรกิจ

 

พิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วนรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการบริหารจัดการทางการเงินของบริษัท ในขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการของศาลล้มละลาย โดยหากศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทก็จะมีระยะเวลา 5-8 ปีในการดำเนินการเพื่อให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยผู้บริหารแผนจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงเดือนมกราคม 2568 

 

แจงปัญหาขาดสภาพคล่อง

 

ด้าน นรินธร อนุเคราะห์ธนาพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ชี้แจงว่า ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ ซึ่งยังไม่ครบกําหนดไถ่ถอนจํานวน 7 ชุด รวม 3,360.20 ล้านบาท ต่อมาบริษัทจัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทําให้บริษัทผิดนัดชําระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชําระหนี้ รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการชําระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าว ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ถือเป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น 

 

นอกจากนี้ ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย ทําให้บริษัทต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินใหม่ โดยจัดประเภทหนี้หนี้สินประเภทหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งจํานวน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ทําให้หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมาก ทําให้บริษัทขาดสภาพคล่อง

 

แนวทางแก้ไข

 

  1. บริษัทจ้างที่ปรึกษาการเงินมาช่วยทําแผน
  • กรรมการจาก Morgan Stanley แจ้งว่า บริษัทควรจ้างบริษัทจากภายนอกที่มีประสบการณ์มาช่วยวางแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ และวันที่ 15 กันยายน 2566 บริษัทได้แต่งตั้งที่ปรึกษาการเงิน บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด 
  • บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด ได้นําเสนอตัวเลือกของการชําระคืนหุ้นกู้แก่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ รวมไปถึงการนําเสนอตัวเลือกที่มีระยะเวลาการจ่ายชําระหนี้ที่อาจใช้เวลาถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่ โดยมีความตั้งใจที่จะนําข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีต่อแผนการชําระหนี้หุ้นกู้มา
  • วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด ได้สรุปความเห็นของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ และนําเสนอตัวเลือกในการชําระเงินคืนให้แก่บริษัท เพื่อให้คณะผู้บริหารตัดสินใจตามดุลพินิจในลําดับต่อไป

 

  1. พยายามหาเงินมาชําระหุ้นกู้
  • ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 บริษัทเจรจากับนักลงทุนจํานวน 3 กลุ่มเพื่อเพิ่มทุน ขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และหาแนวทางการทําธุรกิจต่างๆ 
  • ตลอดเดือนตุลาคม 2566 ได้มีการเจรจากันตลอดทั้งเดือน แต่หาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชําระหุ้นกู้ไม่ได้ บริษัทจึงต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566

 

ขาดสภาพคล่องจ่ายหนี้ ทางออกเดียวคือยื่นฟื้นฟูกิจการ

 

  • แม้ในงบการเงินจะมีทรัพย์สินพอควร แต่ 67% เป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ซึ่งไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดเพื่อชําระหนี้ได้ทันเวลา 
  • ในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้จัดจําหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด ได้ร่วมกับบริษัทในการจัดการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชําระคืนหุ้นกู้ โดยที่ประชุมเห็นว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้มที่จะไม่ยินยอมการชําระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี และหากต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทมีความเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ 
  • เมื่อผลการประชุมเข้าเงื่อนไข บริษัทจึงตัดสินใจยื่นคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาการเงิน (โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาการเงินก่อนที่จะยื่นเข้าแผนฯ) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ตามที่ได้รับมติจากคณะกรรมการในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 โดยศาลรับคําร้องฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 และบริษัทเข้าสู่สภาวะ Automatic Stay ไปจนกว่า ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 
  • การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทมีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

 

เปิดไทม์ไลน์ขั้นตอนและกรอบเวลาทำแผนฟื้นฟูฯ JKN

 

ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ส่งผลให้ราคาร่วงลงแรงทันที หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งยังไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าว JKN มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 1,125 ล้านบาท จากนั้นราคาหุ้นในช่วงวันที่ 9-10 และ 13-14 พฤศจิกายน 2566 ร่วงติดฟลอร์ติดกัน 4 วันทำการ หลุดต่ำกว่าระดับ 1 บาท ส่งผลให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ราคา JKN ร่วงมาปิดการซื้อ-ขายที่ 0.25 บาท ส่งผลให้มีมาร์เก็ตแคปลดลงเหลือประมาณ 258 ล้านบาทเท่านั้น สูญเสียมาร์เก็ตแคปไปเกือบ 900 ล้านบาทในช่วง 4 วันทำการ

 

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17-27 พฤศจิกายน หรือช่วง 7 วันทำการ ราคาหุ้น JKN บวกแรงไปถึง 6 วันทำการ โดยราคาสามารถพุ่งชนซิลลิ่งได้ถึง 3 วันทำการ ล่าสุดวานนี้ (28 พฤศจิกายน) ราคาปิดที่ 0.66 บาท ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปฟื้นตัวมาอยู่ที่ 680.92 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X