กรณีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN และ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในกรณีเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขายธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล
โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) จึงมีมติให้ผู้กระทำความผิดทั้งสองรายชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ รวมเป็นเงินรายละ 2,062,039 บาท รวมทั้งสิ้น 4,124,078 บาท นอกจากนี้ ยังห้าม จักรพงษ์เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 56 เดือน
ต่อมาวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา JKN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) JKN เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบให้ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของบริษัทตามเดิม แม้จักรพงษ์ จะถูกมาตรการลงโทษทางแพ่ง
โดยในส่วนของจักรพงษ์นั้น เป็นความผิดเฉพาะบุคคล โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา จักรพงษ์ถือเป็นผู้บริหารหลักในการผลักดันและการดำเนินงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ให้เกิดความสำเร็จ ประกอบกับที่ประชุมฯ พิจารณาแล้วพบว่า มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ยังไม่ใช่คำสั่งอันเป็นที่สุดซึ่งส่งผลให้นายจักรพงษ์ต้องห้ามการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัท
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงาน “Media Briefing ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนพฤษภาคม 2568” ระบุว่า กรณีการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดกรณี JKN ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการซึ่งผู้กระทำผิดจะพิจารณาว่าจะยินยอมจ่ายค่าปรับมาตรการลงโทษทางแพ่งหรือไม่
ทั้งนี้ตามกระบวนการหากผู้กระทำความผิดยินยอมเสียค่าปรับผู้กระทำความผิดต้องมาลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามที่ ค.ม.พ. กำหนด หากไม่ยินยอม ตามกระบวนการ ก.ล.ต. จะขอให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
“กรอบระยะเวลาในการให้ผู้กระทำผิดมาเสียค่าปรับก็จะมีให้ในระดับหนึ่งก่อนที่จะส่งอัยการฟ้อง แต่ผู้กระทำผิดสามารถขยายเวลาได้ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณีตามเหตุผล แต่ต้องไม่เป็นการยื้อคดีทำให้กระบวนการกฎหมายช้าลง”
เอนก กล่าวต่อว่า หลังสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศเริ่มการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นต้นมา กรณีผู้บริหารของ JKN ที่ถูกลงโทษถือเป็นครั้งแรกไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารและกรรมการของบริษัทฯ เปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ส่วนเมื่อผู้บริหารถูก ก.ล.ต. ชี้มูลความผิดด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งที่มักจะมีการลาออกทันที เนื่องจากที่ผ่านบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในด้านธรรมาภิบาล (Governance) ดังนั้นหากผู้บริหารของบริษัทฯ เกิดกรณีในลักษณะดังกล่าวผู้บริหารจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเอง
“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวผู้บริหารจะยอมจ่ายหรือไม่จ่ายค่าปรับ แต่โดยหลักการหลังชี้มูลความผิดแล้ว หากผู้บริหารยินรับลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามที่ ค.ม.พ. กำหนดก็จะต้องหยุดเป็นผู้บริหาร แต่หากมีความเห็นต่างก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตุลาการต่อไปซึ่งเป็นอำนาจการพิจารณาของตุลาการ ส่วนระยะเวลาดำเนินการของตุลาการขึ้นอยู่กับเคสนั้นๆ หากไม่มีความซับซ้อนกระบวนการในชั้นตุลาการก็น่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน” เอนกกล่าว
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงาน ก.ล.ต.
หวั่นส่งงบไม่ทันกำหนดกระทบการซื้อ-ขายหุ้น
ส่วนกรณีของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บมจ.ดุสิตธานี หรือ DUSIT ที่มีกรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่อนุมัติงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 และที่ประชุมเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค VDO Conference ไม่สามารถดำเนินการได้ มติประชุมจึงอนุมัติแจ้งเลื่อนการประชุมรอบใหม่เป็น 28 พฤษภาคม 2568 นั้น กรณีดังกล่าว เบื้องต้น ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานทำงานหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังคงติดตามว่ากรณีที่ไม่สามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นได้ซึ่งมีวาระที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินของบริษัทฯ ในที่สุดก็อาจมีกระทบต่อการดำเนินกิจการหรือการซื้อ-ขาย หุ้นของบริษัทฯ ได้
“หากบริษัทฯ ไม่สามารถส่งงบทันกำหนดคิดว่าหุ้นก็ต้องถูกขึ้นเครื่องหมาย SP หยุดการซื้อ-ขาย ชั่วคราว แต่จะมีมาตรการถึงระดับไหนคงต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก”
สถิติการบังคับใช้กฎหมาย 4 เดือนแรกปี 68
สำหรับการดำเนินคดีอาญา ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน จำนวนรวม 7 คดี ผู้กระทำผิดรวม 26 ราย แบ่งเป็นฐานความผิด ดังนี้
– สร้างราคา 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย
– แพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี ผู้กระทำผิด 1 ราย
– ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 คดี ผู้กระทำผิด 11 ราย
ส่วนการดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด รวม 8 คดี ผู้กระทำผิด 42 ราย มีฐานความผิด ดังนี้
– แพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย
– สร้างราคา 4 คดี ผู้กระทำผิด 26 ราย
– ใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน 2 คดี ผู้กระทำผิด 12 ราย
– แสดงข้อความอันเป็นเท็จ/ปกปิดข้อความจริง 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย
ขณะที่การตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 รวม 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย โดยมีค่าปรับทางแพ่ง 14.14 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 10.20 ล้านบาท
บรรยากาศงาน งาน Media Briefing ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนพฤษภาคม 2568
การดำเนินการของ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน”
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุน รวม 2,735 ครั้ง ผ่านระบบรับแจ้งใน 6 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) โทรศัพท์ (1207 กด 22) อีเมล ([email protected]) เดินทางมาที่สำนักงาน ระบบบริการสนทนา และไปรษณีย์ โดยมีบัญชีโซเชียลมีเดียเข้าข่ายหลอกลงทุนที่ประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและหน่วยงานภาครัฐเพื่อปิดกั้น จำนวน 1,849 บัญชี โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ปิดกั้นไปแล้ว 99.94% ภายในเวลา 7 นาที-48 ชั่วโมง และให้คำปรึกษาในเรื่องการหลอกลงทุน จำนวน 886 ครั้ง
จัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล-ปิดกั้นแพลตฟอร์มไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการหลังจาก พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับแก้ไขมีผลใช้บังคับ (13 เม.ย. 68) มีดังนี้
– ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการระงับบัญชีต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีม้า ตามที่ได้รับข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ไปแล้วมากกว่า 27,000 บัญชี รวมมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 169.29 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.)
– การปิดช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีกระบวนการที่กระชับกว่าเดิม เนื่องจากมีการลดขั้นตอน
มูลค่ากองทุน Thai ESG เพิ่มขึ้น 17.42%
ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของ Thai ESG ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกองทุน โดย ณ สิ้นเดือน เมษายน 2568 เพิ่มขึ้น 17.42% มาอยู่ที่ 34,745 ล้านบาท จาก 29,591 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2567 แสดงถึงการขยายตัวของ Thai ESG อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ เพิ่มขึ้นถึง 31.42% จากสิ้นปี 2567 ขณะเดียวกัน Thai ESG ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุน เพิ่มขึ้น 1.94% จากสิ้นปี 2567 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน