จิตตะ เวลธ์ มองตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นภาวะหมีถึงปีหน้า เหตุความเสี่ยงเชิงนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลักยังกดดัน แต่เชื่อหุ้นเอเชียโดดเด่นสุด รับกระแสเงินทุนไหลเข้า พร้อมเปิดตัวแผนใหม่ ‘Jitta Ranking ญี่ปุ่น’ พาลงทุนหุ้นญี่ปุ่นที่ถูกและดี 30 ตัว ชูผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปี 26.12% เดินหน้าหารือพันธมิตรหั่นเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือ 10,000 บาท คาดได้ข้อสรุปเร็วสุดปีนี้
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่มีจำนวนกองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารมากที่สุดในประเทศ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนครึ่งปีหลัง 2565 ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังถูกกดดันให้อยู่ในช่วงขาลงจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และนักลงทุนยังต้องเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก
โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ไปแล้ว ด้วยดัชนีติดลบไปกว่า 20% ทั้งดัชนี Nasdaq ตามมาด้วย S&P 500 ซึ่งคาดว่าภาวะตลาดหมีอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2566 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2565 เพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะตลาดหมีและเศรษฐกิจถดถอยจะไม่ยืดเยื้อนานเกิน 24 เดือน
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และนโยบายการเงินของ Fed ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเห็นว่าตลาดหุ้นเอเชียมีความผันผวนน้อยกว่า และยังโดดเด่นในสายตานักลงทุน เริ่มเห็นสัญญาณที่เม็ดเงินลงทุนได้ไหลเข้ามาลงทุนอย่างคึกคักมากขึ้น นำโดยจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจผันผวนและแนวโน้มการเกิด Recession
ขณะที่ตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ราคาหุ้นปรับลดลงมาจนค่อนข้างถูกมากในปี 2565 เพราะหุ้นจีนรับรู้ข่าวเชิงลบมานานกว่า 1 ปี จึงมองว่าราคาหุ้นและ ETF ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นจีนในปีนี้มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นได้ ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามทำผลงานโดดเด่นอย่างมากในช่วงปี 2563-2564 ดัชนี VNI ทำนิวไฮติดต่อกัน 4 ครั้ง จึงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานได้ในปี 2565 โดยเฉพาะราคาหุ้นที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับในอดีต จึงยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์อย่างหุ้นเวียดนามได้” ตราวุทธิ์กล่าว
จิตตะ เวลธ์ มองเห็นตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีโอกาสเติบโตโดดเด่นจากคุณภาพของกิจการ และนักลงทุนไม่ควรพลาด ด้วยนโยบาย Abenomics ของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีเงินออมของภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนการถือเงินสดและฝากเงินในธนาคารมากถึง 55% เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีเพียง 16% สะท้อนถึงสภาพคล่องในระบบการเงินที่อยู่ในระดับสูง ส่วนการบริโภคในประเทศของญี่ปุ่นคิดเป็น 74.5% ของ GDP เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ 82% ดังนั้น สัดส่วนเงินออมของครัวเรือนญี่ปุ่นที่สูงถึง 55% หากแบ่งไปที่การบริโภคและการลงทุนมากขึ้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะทะยานไปได้อีกไกลมาก
ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking ญี่ปุ่น แผนลงทุนใหม่ที่ใช้ AI มาวิเคราะห์หุ้นมากกว่า 3,400 บริษัท เพื่อเลือกหุ้นดีราคาถูกจากตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Tokyo Stock Exchange: TSE) มาจัดพอร์ตลงทุน 5-30 บริษัท ด้วยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิด ‘ลงทุนในกิจการที่ดี ในราคาที่เหมาะสม’ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่นคุณภาพดีโดยตรง ผ่านการบริหารกองทุนส่วนบุคคลของจิตตะ เวลธ์ โดย Jitta Ranking ญี่ปุ่น จะมีการปรับพอร์ตทุก 3 เดือน เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เพิ่มทุนครั้งละ 1 แสนบาท
โดยตัวอย่างหุ้น 5 บริษัทที่มีผลประกอบการที่โดดเด่น เข้าเกณฑ์หุ้นดีราคาถูกของ Jitta Ranking ญี่ปุ่น อุตสาหกรรมแรกอยู่ในกลุ่ม Healthcare เช่น บริษัท Chugai Pharmaceutical, บริษัท BML และบริษัท Takara Bio ถัดมาเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น CTI Engineering และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่าง System D โดยผลตอบแทนย้อนหลังจากการจำลอง Back Test จัดพอร์ตลงทุนด้วยหุ้นญี่ปุ่น ใช้ AI วิเคราะห์และคัดสรรหุ้นเด่น พร้อมปรับพอร์ตทุก 3 เดือน ตลอดระยะเวลา 10 ปี (2555-2564) พบว่ามีผลตอบแทนเฉลี่ย 26.12% ต่อปี และคิดเป็นผลตอบแทนรวมสูงถึง 918.02%
“หลายคนอาจมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวไม่สูง แต่รู้หรือไม่ว่าหลายๆ บริษัทในญี่ปุ่นมีรายได้มาจากทั่วโลก เนื่องจากมีการลงทุนสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้พึ่งพารายได้จากในประเทศเพียงอย่างเดียว และญี่ปุ่นมีบริษัทน้อยใหญ่ที่อาจจะมีชื่อเสียงไม่เทียบเท่ากับ Toyota, Panasonic หรือ Sony แต่กลับมีผลประกอบการที่น่าทึ่ง ดังนั้น จึงเป็นข้อได้เปรียบของระบบ AI ภายใต้การพัฒนาอัลกอริทึมที่ จิตตะ เวลธ์ ต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ที่จะค้นหาหุ้นดีราคาถูกมาจัดพอร์ตให้กับนักลงทุน” ตราวุทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ บลจ.จิตตะ เวลธ์ คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการเพียง 0.5% ต่อปี
ตราวุทธิ์กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะ 3 ปีข้างหน้า มีจำนวนบัญชีลูกค้า 1 ล้านคน จากปัจจุบันมี 86,143 บัญชี และมีส่วนแบ่งทางตลาด 72.6% รวมถึงมีแผนขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งรวมถึงการขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมกองทุน ในการลดเงินลงทุนขั้นต่ำในกองทุนส่วนบุคคลเหลือ 10,000 บาท จากปัจจุบันที่ 50,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วสุดในปีนี้ และช้าสุดคือกลางปีหน้า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP