เตาปฏิกรณ์แบบหลอมรวมธาตุชนิดโทคาแมคในโครงการ ‘Joint European Torus (JET)’ ที่ศูนย์พลังงานฟิวชันคัลแฮม ในอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ของอังกฤษ ทำลายสถิติด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งใหม่ โดยสามารถสร้างพลังงานได้ถึง 69.26 เมกะจูลจากมวลต้นทุนเพียง 0.21 มิลลิกรัม ทำลายสถิติ 59 เมกะจูลที่ทำได้ในปี 2022 ไปเรียบร้อย
พลังงานจำนวนนี้เปรียบเทียบแล้วสามารถนำไปจ่ายให้กับบ้านเรือนประชาชนจำนวน 12,000 หลังได้นาน 5 วินาที
ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ที่มนุษย์สามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงกว่าทุกหนแห่งในระบบสุริยะ นั่นคือ 150 ล้านองศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่าใจกลางดวงอาทิตย์หลายเท่า จนสามารถก่อให้เกิดการหลอมรวมธาตุไอโซโทปของไฮโดรเจน แล้วปลดปล่อยพลังงานออกมาในปริมาณมากที่ป้อนเข้าไปเพื่อสร้างอุณหภูมิสูงขนาดนั้น พลังงานส่วนต่างนี้เองคือจุดแข่งขันของเตาปฏิกรณ์แบบหลอมรวมธาตุทุกเครื่องบนโลก
เตาปฏิกรณ์ JET ในอังกฤษนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการทดลองปฏิกรณ์แบบหลอมรวมธาตุของประเทศสมาชิกเช่นเดียวกับเตาปฏิกรณ์ EAST ของจีน เพื่อหาข้อมูลและเทคนิคใหม่ๆ ในการปรับปรุงเตาปฏิกรณ์ยักษ์ในโครงการนานาชาติ ITER ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
โดยรูปแบบของปฏิกรณ์ JET ของอังกฤษจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้ามากกว่าเพื่อน เพื่อนำทางไปสู่การใช้งานจริงในวันที่เตาปฏิกรณ์ยักษ์ ITER บรรลุเป้าหมาย นั่นคือสามารถจ่ายพลังงานออกมามากกว่าพลังงานที่ป้อนเข้าไปแบบ ‘ถาวร’ และเมื่อวันนั้นมาถึง โลกของเราก็จะมีไฟฟ้าสะอาดราคาถูกจากเขื้อเพลิงที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาตินั่นคือไฮโดรเจน และแน่นอนว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะไม่ปล่อยขยะนิวเคลียร์ออกมา ผลผลิตของปฏิกรณ์แบบหลอมรวมธาตุคือฮีเลียม ซึ่งเป็นธาตุที่ไม่มีอันตราย
ขณะที่โลกเรากำลังมุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน หนึ่งในความหวังที่จะมาพลิกโฉมปัญหานี้คือพลังงานสะอาดจากเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน พลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้งานทุกรูปแบบและไม่ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เราอาจทุ่มเทความหวังกับสิ่งประดิษฐ์นี้จนหมดหน้าตักไม่ได้ เพราะกว่าจะผ่านการทดลองจนใช้งานได้จริง มูลค่าการสร้างในเชิงพาณิชย์อาจกระโดดหนีไปไกลจนสร้างไม่ไหว ดังนั้น ระหว่างที่ ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และประกาศความสำเร็จออกมาเป็นระยะ เราทุกคนก็ยังต้องช่วยกันหยุดวิกฤตโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนตามแนวทางเดิมกันต่อไป
สามารถอ่านคำอธิบายแบบเข้าใจง่ายเกี่ยวกับ ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ได้จากบทความนี้ https://thestandard.co/artificial-sun-china-break-own-record/
อ้างอิง: