เชียร์ลา แบร์ (Sheila Bair) หนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านการกำกับดูแลทางการเงินของสหรัฐฯ และเป็นเพียงไม่กี่คนที่ออกมาเตือนก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยระบุว่า พาวเวลล์ใจดีเกินไป คือไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดกับภาคธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะรายใหญ่อย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้ระบบการเงินของสหรัฐฯ ในขณะนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง
ทั้งนี้ แบร์แสดงความเห็นระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า กฎระเบียบส่วนใหญ่ของ Fed ในขณะนี้ล้วนจัดทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินซ้ำรอยเดิมในปี 2008 แต่ทว่าการกำกับดูแลของ Fed กลับอ่อนลงมากนับตั้งแต่ที่ เจเน็ต เยลเลน ก้าวลงจากตำแหน่ง
นอกจากนี้แบร์ยังมองว่า พาวเวลล์ค่อนข้างหละหลวมกับการกำกับดูแลธนาคารในประเด็นความเสี่ยงภาวะโลกร้อน ก่อนเรียกร้องให้พาวเวลล์พิจารณาปรับโครงสร้างของธนาคารให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับความเสียหายที่เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งหมายรวมถึงการทำ Stress Test
ความคิดเห็นของแบร์ในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ต้องพิจารณาต่ออายุงานของพาวเวลล์ต่ออีก 4 ปี โดยพาวเวลล์จะครบวาระดำรงตำแหน่งประธาน Fed ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งทำเนียบขาวเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นยังได้เผยแพร่รายงานรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการลดจำนวนการซื้อคืนพันธบัตรในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
โดยความเห็นของนักวิเคราะห์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจมากกว่ากำหนดเวลาที่ธนาคารกลางแต่ละแห่งจะเริ่มลด QE ก็คือ ขนาดและความเร็ว (Size and Speed) ของแผน และรายละเอียดของการดำเนินการที่จะส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของประเทศนั้นๆ ในระยะยาว
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของธนาคารกลางออสเตรเลียที่ประกาศลดการซื้อคืนพันธบัตรรายสัปดาห์จาก 5,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียมาอยู่ที่ 4,000 ล้านออสเตรเลีย ยาวไปจนถึงปีกุมภาพันธ์ปีหน้า แสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อ เพียงแต่กระตุ้นน้อยลงเท่านั้น และรอดูสถานการณ์โควิดก่อน
ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) นักวิเคราะห์มองว่า ประเด็นสำคัญมากกว่าการลดจำนวนซื้อคืนพันธบัตรก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการสิ้นสุดมาตรการ QE อย่างถาวร ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า ทั้ง Fed และ ECB น่าจะเลิก QE ได้ภายในช่วงกลางปี 2022 โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่สถานการณ์โควิด, อัตราเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของตลาดงาน
รายงานระบุว่า การที่ธนาคารกลางยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ต่างตัดสินใจชะลอการลงทุน หรือใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีท โดยนอกจากจะรอความชัดเจนจากการประชุม Fed ในวันที่ 22 กันยายนนี้แล้ว นักลงทุนยังจับตาความเคลื่อนไหวจากทางสภาคองเกรสที่จะต้องพิจารณาเรื่องปรับขนาดเพดานหนี้อีกครั้ง
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/09/09/business/fed-powell-sheila-bair/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/09/09/investing/premarket-stocks-trading/index.html
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce
#TheSecretSauceStrategyForum2022