ชิป เบิร์ก (Chip Bergh) ซีอีโอของบริษัทกางเกงยีนส์ยักษ์ใหญ่อย่างลีวายส์ (Levi’s) ออกมาให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อปี 2014 ว่า เขาไม่เคยซักกางเกงยีนส์อายุเกือบปีที่ใส่อยู่นี่เลย และแนะนำคนใส่ยีนส์ทั้งหลายด้วยว่าไม่ควรซักกางเกงยีนส์บ่อยๆ โดยเฉพาะด้วยการซักเครื่อง คำพูดของชิปกลายเป็นพาดหัวข่าวของสื่อทั่วโลก และกระจายทั่วโซเชียลมีเดียต่อเนื่องมาอีกหลายปี
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่าการที่ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทกางเกงยีนส์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1853 ออกมาชักชวนให้ผู้บริโภคไม่ซักกางเกงยีนส์บ่อยๆ มีอะไรมากกว่าการสร้างกระแส แต่เป็นความ ‘คิดต่าง’ ที่มาจากดีเอ็นเอหลักของลีวายส์ที่เน้นเรื่องคุณภาพ อายุการใช้งานที่ยาวนานของสินค้า และการผลิตเสื้อผ้าที่มีความรับผิดชอบ หรือหากคุณไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การซักกางเกงยีนส์บ่อยๆ ก็ทำให้ผ้าเดนิมเสื่อมคุณภาพเร็ว ลดสีสวยของคราม และลดอายุกางเกงยีนส์โดยไม่จำเป็น
แต่หัวใจสำคัญที่ลีวายส์ต้องออกมาพูดเรื่องนี้คือการท้าทายให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผลกระทบต่อโลก ด้วยความสงสัยใคร่รู้ บริษัทได้ศึกษาวงจรชีวิต (Life Cycle Assessment) ของกางเกงยีนส์ลีวายส์รุ่น 501 เพื่อดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ยังเป็นวัตถุดิบ (การเพาะปลูกฝ้าย) กระบวนการผลิต (การทอผ้าและตัดเย็บ) การขนส่งและจัดจำหน่าย การใช้สินค้า และการทิ้ง
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่าคือการใช้น้ำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ที่ดิน และอื่นๆ ลีวายส์ศึกษาวงจรนี้ถึง 2 ครั้งในปี 2007 และ 2015 ในการศึกษาครั้งล่าสุด บริษัทลงลึกไปดูฟาร์มฝ้ายในประเทศผู้ผลิตหลัก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และจีน รวมทั้งการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และจีน
บริษัทพบว่าการใช้น้ำเป็นผลกระทบสำคัญที่กางเกงยีนส์รุ่น 501 สร้างขึ้น ในช่วงชีวิตของยีนส์ลีวายส์ 501 หนึ่งตัวต้องใช้น้ำทั้งหมด 3,781 ลิตร (มากพอๆ กับการใช้น้ำของครอบครัวอเมริกันเป็นเวลา 3 วัน) โดยมีการใช้น้ำมากที่สุดในช่วงเพาะปลูกฝ้ายที่ 68% และการซักยีนส์โดยผู้บริโภคที่ 23% ในขณะที่กระบวนการทอ ฟอก ย้อม และผลิตที่ลีวายส์ควบคุมการใช้น้ำได้เองนั้นใช้น้ำเพียง 9% และบริษัทก็ได้มีนโยบายและนวัตกรรมลดการใช้น้ำในการผลิต และประหยัดน้ำไปได้ถึง 1,000 ล้านลิตรมาตั้งแต่ปี 2011 ผลกระทบที่สำคัญอีกด้านคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งการใช้พลังงานในการซักผ้าของผู้บริโภคกลับเป็นส่วนสร้างผลกระทบสูงสุดที่ 37% เมื่อเทียบกับทั้งวงจรชีวิตกางเกงยีนส์
การซักยีนส์เมื่ออยู่ในมือผู้บริโภคนั้นใช้น้ำโดยเฉลี่ย 860 ลิตรตลอดวงจรชีวิตยีนส์ ผู้บริโภคโดยเฉลี่ยมักจะใส่ยีนส์เพียงประมาณ 2 ครั้งแล้วซัก การซักด้วยเครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดน้ำและพลังงานได้ รวมไปถึงการซักด้วยน้ำเย็นแทนน้ำอุ่น และตากให้แห้งเองโดยไม่ต้องอบผ้า
ซึ่งลีวายส์แนะนำว่า หากเราใส่กางเกงยีนส์สัก 10 ครั้งแล้วค่อยซัก เราจะประหยัดน้ำและพลังงานไปได้ถึงเกือบ 80% แน่นอนว่าหากลูกค้าลีวายส์เปลี่ยนวิธีซักผ้าเพียงคนสองคน ผลกระทบก็คงน้อยนิด แต่หากลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วโลกทำพร้อมกันล่ะ จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน โดยที่คุณไม่ต้องพยายามทำอะไรมาก แค่ซักกางเกงยีนส์ให้น้อยลง
ส่วนอีกฝั่งของผลกระทบคือการปลูกฝ้าย ลีวายส์ร่วมก่อตั้งมาตรฐานการปลูกฝ้าย Better Cotton Initiative (BCI) ร่วมกับ Marks & Spencer, Ikea, และเอ็นจีโอย่าง World Wildlife Fund (WWF) ที่เน้นการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานแรงงานและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการปลูก บริษัทตั้งเป้าหมายจะใช้ฝ้ายที่ผ่านมาตรฐานนี้ในการผลิตให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2020 แต่ยังทำได้แค่ 12% ในปี 2015
แม้การแสดงความรักษ์โลกแบบลีวายส์จะทำให้หลายคนได้กลิ่นตุๆ โชยมา แต่หากถึงคราวจะต้องทำความสะอาดยีนส์ ชิป ซีอีโอของบริษัทแนะนำว่าให้ลองทำความสะอาดตรงจุดที่เปื้อน เช่น เช็ดออก หรือใช้น้ำสบู่ถูรอยเปื้อนก่อน แต่ถ้าถึงคราวต้องซักจริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือการซักด้วยมือ ชิปยืนยันว่าเขาซักกางเกงยีนส์เองด้วยมือ และยีนส์ตัวที่ไม่ได้ซักก็ยังไม่ได้ทำให้เขาเป็นโรคผิวหนัง
การออกมาผลักดันให้ผู้บริโภคไม่ต้องซักกางเกงยีนส์บ่อยๆ ของลีวายส์มีทั้งเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย และเสียงวิจารณ์ว่ามันขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและสุขอนามัยส่วนบุคคลของแต่ละคน
แต่ความ ‘คิดต่าง’ ของลีวายส์ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจที่ใส่ใจความยั่งยืนจะไม่มุ่งเพียงแค่ละผลกระทบในส่วนที่ตัวเองทำได้เท่านั้น แต่ยังต้องชวนลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องอื่นๆ ช่วยทำให้โลกดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน
โดยเฉพาะเมื่อซีอีโอออกมาพูดด้วยตัวเองก็ยิ่งทำให้คนรับฟังและแสดงความ ‘จริงจัง’ ในเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สังคมรับรู้
อ้างอิง: