×

JD.com เปิดบ้านอวดนวัตกรรมการเงิน ในวันที่อีวอลเล็ตไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป

09.09.2019
  • LOADING...
JDD

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ระบุว่า กว่า 85% ของการทำธุรกรรมในปัจจุบันของธนาคารเกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น เพิ่มขึ้นจากสองปีที่แล้วมากกว่า 4 เท่าตัว
  • ถึงจะเริ่มต้นจากการทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจนได้รับการยกย่องให้เป็นแบรนด์อีคอมเมิร์ซอันดับที่ 3 ของโลก แต่วันนี้ JD.com ยังแตกพอร์ตธุรกิจของตัวเองมุ่งหน้ามาให้บริการทางการเงินและฟินเทคในชื่อ ‘JDD’
  • เซ็นทรัลและเจดีได้ร่วมกันตั้งบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง ขึ้นมาเพื่อให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลโดยเฉพาะ ครอบคลุมตั้งแต่อีวอลเล็ต การทำสินเชื่อรายย่อยและประกัน ตลอดจนการจำหน่ายเทคโนโลยีต่างๆ

“พกเงินสดในกระเป๋าสตางค์บ้างไหม” เราถามเด็กฝึกงานหญิงวัย 20 ปีของ JDD ที่มาอำนวยความสะดวกทีมผู้สื่อข่าวจากไทยในวันสุดท้ายของทริปเยี่ยมชมนวัตกรรมการเงินที่จัดโดยบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด หลังเห็นแต่ใครต่อใครหยิบสมาร์ทโฟนออกจากกระเป๋าทุกทีที่ต้องการจ่ายเงินซื้อสินค้า ฯลฯ

 

เธอส่ายหัวและเริ่มเล่าต่อว่า ทุกวันนี้คนจีนส่วนใหญ่ใช้ QR Code แทนการจ่าย-รับเงินในชีวิตประจำวันหรือผ่านอีวอลเล็ตของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า ไม่ว่าจะ WeChat, Alipay ฯลฯ เช่นเดียวกับตัวเธอเองที่ใช้ช่องทางเหล่านั้นรับเงินค่าขนมจากพ่อ-แม่ จนกลายเป็นเรื่องปกติ 

 

จริงอยู่ที่คำตอบของเธอไม่อาจตอบแทนพลเมืองจีนกว่า 1,400 ล้านชีวิต แต่จากการสังเกตชีวิตประจำวันของคนในเมืองปักกิ่งตลอด 3-4 วัน ก็พบทันทีว่าไลฟ์สไตล์คนจีนส่วนใหญ่ในปัจจุบันผูกติดอยู่กับแพลตฟอร์มดิจิทัลมาก การทำธุรกรรมหรือการใช้บริการต่างๆ จึงถูกออกแบบมาให้จบเบ็ดเสร็จบนแพลตฟอร์มผู้ให้บริการแต่ละเจ้า

 

ทั้งใช้ชำระตั๋วรถไฟใต้ดิน สั่งซื้อของบนอีคอมเมิร์ซ หรือจ่ายเงินที่ร้านอาหาร แม้กระทั่ง ‘ร้านโชห่วย’ ตามตรอกซอกซอยก็มีป้าย QR Code รับเงินจากอีวอลเล็ต ส่วนร้านค้าอีกหลายแห่งก็ไปไกลกว่า เพราะรองรับ ‘ระบบชำระเงินด้วยใบหน้า (Facial Payment)’ 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจจากธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Oof China) หนึ่งในผู้ให้บริการด้านธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศจีนพบว่า กว่า 85% ของการทำธุรกรรมในปัจจุบันของธนาคารเกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อสองปีที่แล้วจะพบว่าตัวเลขดังกล่าวเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

 

ถึงจุดกำเนิดความนิยมและการผลักดันสังคมไร้เงินสดให้เกิดขึ้นในจีนทุกวันนี้จะมาจากความต้องการลดต้นทุนการผลิตเงินสด ค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และการลดความเสี่ยงของการฉ้อโกงด้วยเงินและธนบัตรปลอม แต่ในวันนี้ที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปไกล นวัตกรรมและบริการจากสตาร์ทอัพมากมายได้ถือกำเนิดขึ้นมา ความก้าวหน้าของมันจึงได้นำไปสู่ ‘โอกาส’ ทางธุรกิจ และนวัตกรรมทางการเงินอีกมากมายมหาศาล

 

JDD

 

JD Digits กรณีศึกษาความก้าวหน้าจาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ สู่ ‘ฟินเทค’

พอเอ่ยชื่อ ‘JDD’ หลายคนอาจจะไม่ยังไม่คุ้นชื่อนี้สักเท่าไร แต่ถ้าบอกว่าบริษัทนี้อยู่ในเครือเดียวกันกับ ‘JD.com’ หรือจินตง หลายคนอาจจะเริ่มรู้จักมหาอำนาจอีคอมเมิร์ซเจ้านี้กันบ้างแล้ว เพราะพวกเขาถือเป็นคู่แข่งด้านค้าปลีกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับท็อปๆ สูสีกับคู่แข่งอย่าง Alibaba

 

JD.com เริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นครั้งแรกในปี 1998 โดยหลิวเฉียงตง ก่อนที่อีก 6 ปีให้หลังจะเริ่มเข้ามาลุยสร้างตลาดบนโลกออนไลน์ โดยปัจจุบัน นิตยสาร Forbes ได้ยกให้เจดีเป็นบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดในอันดับที่ 613 ของโลก มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 43,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท 

 

ส่วนในประเทศไทย พวกเขาได้เข้ามาทำธุรกิจภายใต้การร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทยที่อยู่ในสังเวียนมาอย่างยาวนาน ‘เซ็นทรัล กรุ๊ป’ ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2017 พร้อมก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและทำแบรนด์ในชื่อ ‘เจดี เซ็นทรัล’

 

โมเดลที่น่าสนใจคือยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในจีนไม่ได้ทำแค่ ‘ค้าปลีก’ ขายสินค้าออนไลน์ หรือเก็บเงินจากการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายสินค้าเท่านั้น แต่พวกเขายังพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นส่วนต่อขยาย และกลายเป็นเครื่องมือต่อยอดธุรกิจในอนาคตของบริษัท

 

ที่เจดีก็เช่นกัน ในปี 2013 พวกเขาได้ก่อตั้งบริษัทย่อย ‘JD Finance’ ขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงภาคการเงินธนาคารเข้ากับอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านเทคโนโนโลยีดิจิทัล ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะรีแบรนด์พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น ‘JDD’ หรือ JD Digits

 

เจดีมองเห็นอะไรจากการตั้งหน่วยงานธุรกิจด้านการเงินขึ้นมาภายในบริษัท

 

คำตอบก็คือพวกเขาต้องการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องรวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะการทำสินเชื่อรายย่อยจำพวก Nano Finance เพราะต้องไม่ลืมว่า ข้อได้เปรียบของการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคือการอยู่ตรงกลางระหว่าง ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ 

 

เจดีจึงมีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลอยู่ในมือ รู้ว่าใครต้องการซื้ออะไร สินค้าแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม ผู้บริโภคแต่ละคนมีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซกลายเป็นสถาบันการเงินได้ด้วย

 

ลองนึกภาพเล่นว่าๆ ถ้าเจ้าของตลาดนัดที่เปิดพื้นที่ให้คนมาตั้งขายของเป็นหลายๆ แสนบูธ สามารถปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อยให้กับทั้งพ่อค้าแม่ค้าและคนเดินตลาดได้ด้วย เพราะรู้ข้อมูลทะลุปรุโปร่งว่า ใครสภาพคล่องเป็นอย่างไร ใครต้องการกู้ยืม ธุรกิจเจ้าของตลาดนัดคนนั้นจะเฟื่องฟูอู้ฟู่แค่ไหน เจดีก็คงไม่ต่างกัน

 

มีการเปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน JD Digits สามารถนำเสนอบริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 400 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

  • กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ 8 ล้านราย
  • สถาบันการเงินมากกว่า 700 ราย
  • บริษัทสตาร์ทอัพและธุรกิจด้านนวัตกรรมอีกกว่า 12,000 บริษัท

 

JDD

โดรนยักษ์ส่งสินค้าภายใต้การพัฒนาของเจดี

 

สาเหตุที่ JD หรือ JD Digits มีลูกค้าเป็นกลุ่มองค์กรบริษัทและสถาบันการเงินด้วย เนื่องจากพวกเขายังทำธุรกิจแบบ B2B จำหน่ายนวัตกรรมด้านฟินเทคหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น เทคโนโลยีการสแกนใบหน้า, ระบบ JD Technology Trust (ระบบอัจฉริยะดูแลและจัดการด้านสินทรัพย์), บล็อกเชน, ระบบวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงบริการสินเชื่อ, Intelligent Voice ระบบ AI Call Center ตามทวงหนี้ หรือแม้กระทั่ง Roboditner (หุ่นยนต์ตรวจห้องเซิร์ฟเวอร์, หุ่นยนต์ตรวจรางรถไฟ และหุ่นยนต์ส่งของในอาคาร)

 

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตลอดระยะเวลา 6 ปี บริษัทยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เป็นผลจากการใส่ใจและให้ความสำคัญกับแผนก R&D เพราะมีการเปิดเผยว่า จากพนักงานทั้งหมดของบริษัทกว่า 200,000 คน ในจำนวนนี้เกือบ 50% เป็นพนักงานในกลุ่มวิจัยและพัฒนาแทบทั้งนั้น! (ปัจจุบันมีศูนย์ R&D ในจีนและสหรัฐฯ รวม 6 แห่ง)

 

JDD

 

‘ดอลฟิน วอลเล็ต (Dolfin Wallet)’ ลูกคนที่สองของเซ็นทรัล เจดี

ต่อจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจดี เซ็นทรัล เมื่อทางเจดีเองก็มีเสถียรภาพและนวัตกรรมทางการเงินที่ล้ำสมัยอยู่ในมือ ส่วนเซ็นทรัลก็ยังมี ‘ช่องว่าง’ ด้านการทำแพลตฟอร์มการเงินโดยเฉพาะอีวอลเล็ตและผลิตภัณฑ์สินเชื่อ พวกเขาจึงร่วมกันก่อตั้ง ‘บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด’ ขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านอีไฟแนนซ์และฟินเทคของประเทศไทยโดยเฉพาะ ภายใต้งบลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยเซ็นทรัล เจดี ฟินเทคจะดำเนินธุรกิจใน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. การให้บริการอีวอลเล็ตและช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (บริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด) และ 2. สินเชื่อ บริการประกันภัยและบริการบริหารสินทรัพย์เพื่อความมั่งคั่งออนไลน์ (บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค จำกัด)

 

พาร์ตที่หลายๆ คนน่าจะพอมีโอกาสได้เห็นแล้วคือแพลตฟอร์มอีวอลเล็ต ดอลฟิน ที่เริ่มให้บริการอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมประมาณ 50,000-60,000 ราย โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 300,000 รายได้ไม่ยาก

 

JDD

เทคโนโลยีการจ่ายเงินด้วยใบหน้าที่ JD.com พัฒนาขึ้นมาใช้งานกับร้านสะดวกซื้อ

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัล และกรรมการบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ว่า ความตั้งใจของเซ็นทรัลและเจดีที่อยู่เบื้องหลังความร่วมมือในครั้งนี้ คือการสร้างแพลตฟอร์มร่วมกัน โดยเป็นแพลตฟอร์มที่มีธุรกิจหลักใน 3 ส่วน ได้แก่

1. บริการด้านเทคโนโลยี (ระบบจดจำใบหน้า)

2. ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยและประกัน

3. อีวอลเล็ต

 

ด้าน รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด บอกกับผู้สื่อข่าวว่า จุดแข็งของดอลฟิน วอลเล็ตไม่ใช่แค่การอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันกับเซ็นทรัล กรุ๊ปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่บริษัทสามารถนำเทคโนโลยีของ JDD มาใช้ได้แบบครบวงจร 

 

ทั้งระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตน e-KYC (Electronic Know Your Customer) ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) และเทคโนโลยีการรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition) ที่ช่วยลดขั้นตอนในการเปิดใช้อีวอลเล็ต รวมถึงการนำ AI และ Big Data เข้ามาช่วยจัดการสินทรัพย์

 

จุดต่างที่รุ่งเรืองเชื่อว่าน่าจะทำให้ดอลฟิน วอลเล็ต เกิดได้ในสมรภูมิอีวอลเล็ตในประเทศไทย คือการที่ดอลฟินไม่ได้เป็นแค่กระเป๋าสตางค์ออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ ทางการเงินที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน เช่น การ Visualize ข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ช่องทางการลงทุนและการกู้ยืม

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน และยังทำให้แพลตฟอร์มอีวอลเล็ตในไทยยัง ‘ไม่เปรี้ยงเสียที’ มาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้บริหารหลายคนเราพบว่า ปัญหาเหล่านั้นมีตั้งแต่ข้อจำกัดจุดรองรับการใช้งาน โปรโมชันไม่ดึงดูด ความยุ่งยากในการใช้ การโอนถอนเงินเข้าระบบ และความกังวลที่เงินจะหายไป 

 

ในมุมมองนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด มองว่า ดอลฟิน วอลเล็ตจะต้องแก้เพนพอยต์ต่างๆ ให้หมดไป โดยต้องสามารถนำเสนอบริการที่ถูกใจในเวลาที่ใช่กับผู้ใช้งานแต่ละคนได้ถูกต้องตามแต่ละ Scenario ในชีวิตประจำวัน (ตัวอย่างเช่น Rabbit LINE Pay ทำกับ BTS หรือ TrueMoney Wallet ทำกับ 7-Eleven)

 

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอีวอลเล็ตในตลาดก็ต้องร่วมกันทำแพลตฟอร์มทั้งหลายแหล่ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อทั้งระบบ (Seamless) เพื่อสร้างระบบนิเวศและบรรยากาศที่ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความสะดวกสบายในการใช้งานร่วมกัน

 

จากอีคอมเมิร์ซสู่อีวอลเล็ต ในมุมเจดีนี่คือการขยายตลาดมารุกหนักประเทศไทยเต็มตัว ส่วนในฝั่งเซ็นทรัลการเดิมพันครั้งนี่คือการติดอาวุธเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้พอร์ตธุรกิจดิจิทัลของพวกเขาขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และชิงความได้เปรียบเหนือผู้ประกอบการีเทลเจ้าอื่นๆ ในตลาดประเทศไทย

 

คำถามสำคัญคือดอลฟินจะ ‘เก่งพอ’ ที่จะกลายเป็น Game Changer ให้กับตลาดวอลเล็ตและสินเชื่อรายย่อยเหมือนที่ Alipay หรือ WeChat ทำได้ในจีนหรือไม่ นี่คือบทพิสูจน์ที่เราต้องตามดูกันยาวๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising