วานนี้ (16 มิถุนายน) จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์
ถึงกรณี ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) หรือ หยก เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเนื่องจากไม่ได้มามอบตัวพร้อมผู้ปกครองที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในวันที่กำหนด ก่อนที่หยกซึ่งแต่งกายด้วยชุดไพรเวตจะปีนรั้วเข้าโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน
จาตุรนต์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างพิเศษ และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครถูกหรือผิด ตนเองมองว่าถ้าเด็กไม่มีผู้ปกครองก็สามารถอนุโลมให้คนอื่นๆ ที่เหมาะสมมาเป็นผู้ปกครองได้ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็ต้องให้เด็กเข้ามาเรียนได้อยู่ดี เพราะเด็กคนหนึ่งมีสิทธิที่จะได้เข้าเรียน และภาครัฐมีหน้าที่ดูแลให้เด็กได้ที่เรียนหนังสือ
ดังนั้นจากการประเมินของตนเอง สิ่งที่เด็ก โรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการควรจะดำเนินการคือ
- ต้องทำให้หยกได้เรียนในโรงเรียนดังกล่าวไม่ว่าจะมีผู้ปกครองหรือไม่
- หาทางออกเรื่องการแต่งกาย โดยพูดคุยกับเด็กหรือใช้วิธีสมัครใจในการแต่งเครื่องแบบได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากเด็กต้องการสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องมาหารือมาตรการผ่อนคลายการแต่งกายอย่างเข้มข้น ซึ่งมีกรณีที่สามารถเปรียบเทียบได้ คือเด็กที่ไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนไปเรียนแต่ก็เรียนได้ดีเช่นกัน
“ไม่ควรไปตัดสิทธิเขา (หยก) ในระหว่างนี้ ก็ไม่ถึงขั้นต้องปิดรั้วห้ามเข้าโรงเรียน ถ้าเขามาโรงเรียนก็จะต้องผ่อนผัน หาทางแก้ปัญหาเรื่องการไม่มีผู้ปกครอง และการมอบตัวให้ถูกต้อง อาจหาใครมาก็ได้ที่นับถือมาช่วยกันหาทางออก” จาตุรนต์ระบุ
ขณะที่เรื่องการแต่งกายไปโรงเรียนด้วยชุดไพรเวต จาตุรนต์มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายในการแก้ไข เพราะโรงเรียนมีกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม ต้องพูดคุยกันในภาพกว้าง และหาวิธีการที่ทำให้เด็กยังได้เรียนต่อ เว้นแต่จะทำผิดกฎระเบียบมากจนเกินเหตุ
สำหรับภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการนั้น กระทรวงฯ ได้แก้ไขกฎระเบียบมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ชัดเจนมากพอ จนกลายเป็นเข้มงวดเกินกว่าเจตนาของกระทรวงฯ รวมถึงการออกกฎระเบียบใหม่ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ไม่กี่เดือน โดยให้คณะกรรมการโรงเรียน ครู และผู้ปกครองปรึกษาการตั้งระเบียบและแก้ปัญหา
ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ที่ทำให้บางโรงเรียนเข้มงวดกฎและระเบียบมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของนักเรียน ฉะนั้นกฎระเบียบของกระทรวงฯ ควรจะทำให้ชัดเจน ได้แก่
- ความชัดเจนของการผ่อนคลายความเข้มงวดกฎระเบียบและการแต่งกาย
- ความชัดเจนในการคุ้มครองนักเรียน เช่น ไม่สามารถกล้อนผมเด็กหรือทำร้ายร่างกายเด็กโดยพลการ เป็นต้น
“ปัญหาใหญ่คือจะทำยังไงให้บุคลากรทางการศึกษาและระบบการศึกษาของไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง (กฎระเบียบ ทรงผม และการแต่งกาย) และหันมาให้ความสนใจ ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด วิเคราะห์ พัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 หลายประเทศดำเนินการมา 20 ปีแล้ว ของไทยยังไปไม่ถึงไหนเลย” จาตุรนต์เผย
จาตุรนต์เผยอีกว่า “ต้องทำให้เกิดบรรยากาศต่อผู้บริหารและครูที่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับ ‘เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก รู้จักหาความรู้แบบใหม่ๆ’ เรื่องทรงผมและการแต่งกายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่คือมาสนใจการเรียนสมัยใหม่ดีกว่า”