×

ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่นิยมซื้อบ้าน แต่ยอมจ่ายค่าเช่าบ้านไปตลอดชีวิต?

โดย Katto Panarat
27.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ถ้าซื้อบ้าน ต้องรื้อสร้างบ้านใหม่หรือรีโนเวตใหม่ทุกๆ 30 ปี เท่ากับว่าในหนึ่งชีวิตของอายุขัยโดยเฉลี่ย เราต้องใช้เงินก้อนใหญ่สองครั้งสำหรับการซ่อมแซมบ้าน บ้านจะกลายเป็นขยะ+หนี้ไม่มีวันจบ
  • คุณมิตะ ชาวโตเกียว ให้เหตุผลที่จะไม่ซื้อบ้านว่า เพราะราคาบ้านใหม่ในโตเกียวสูงขึ้นทุกปี บวกกับประชากรลดน้อยลง ถ้าซื้อบ้านไปแล้วขายต่อไม่ได้ ไม่มีคนซื้อก็ขาดทุน
  • ปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นหันไปทำงานพิเศษหรือพาร์ตไทม์มากขึ้น พนักงานบริษัทที่กินเงินเดือนเริ่มลดน้อยลง ทำให้การซื้อบ้านนั้นเป็นเรื่องของความเสี่ยงทางการเงิน แม้ว่าเราจะซื้อบ้านใหม่ในปีนี้ก็ตาม แต่ต่อไปมูลค่าของบ้านจะลดลง แล้วยังสิ้นเปลืองค่าบำรุงรักษาบ้านอีกด้วย

   เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นส่วนมากถึงยังเช่าบ้านกันอยู่ ทั้งๆ ที่การจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือนนั้นจำนวนเงินเท่ากับเงินผ่อนบ้านหลังกู้จากธนาคารอยู่แล้ว

 

ทำไมคนญี่ปุ่นเขาถึงไม่ซื้อบ้านกัน

   หากมองข้อดีของการเช่าบ้านแทนการซื้อบ้าน อาจแบ่งเป็นประเด็นง่ายๆ ได้ตามนี้

   ถ้าซื้อบ้าน ต้องรื้อสร้างบ้านใหม่หรือรีโนเวตใหม่ทุกๆ 30 ปี เท่ากับว่าในหนึ่งชีวิตของอายุขัยโดยเฉลี่ย เราต้องใช้เงินก้อนใหญ่สองครั้งสำหรับการซ่อมแซมบ้าน บ้านจะกลายเป็นขยะ+หนี้ไม่มีวันจบ

   เงินกู้มีดอกเบี้ย แต่ค่าเช่าบ้านไม่มีดอกเบี้ย เงินกู้กับค่าเช่าบ้านโดยพื้นฐานมีความแตกต่างกัน มันเอามาเทียบกันไม่ได้ มันคือคนละเรื่องกัน

   คนญี่ปุ่นแยกคำว่า ‘บ้าน’ และ ‘ที่ดิน’ ออกจากกัน เพราะ ‘บ้าน’ คือ สินค้าอุปโภค ส่วน ‘ที่ดิน’ คือสมบัติ

   บ้านและรถยนต์มีมูลค่าลดลงทุกวัน เมื่อรวมกับความกังวลต่างๆ ของคนญี่ปุ่น พวกเขาจึงไม่คิดจะซื้อบ้าน เช่น เพื่อนบ้านไม่ดีต้องทนตลอดไป มีโอกาสย้ายงานตลอด ภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว ฝนตกหนักดินถล่มบ้านพังต้องเสียค่าซ่อมแซม

   แต่คนญี่ปุ่นส่วนมากที่มีลูกมีความคิดที่จะซื้อบ้าน แตกต่างจากคนจีนอย่างมาก เพราะสังคมคนจีนถ้าผู้ชายไม่มีบ้านก็จะไม่สามารถแต่งงานได้ เพราะเป็นเรื่องหน้าตาทางสังคม

   คนไทยคิดต่างตรงที่คิดว่าดีกว่าจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือนๆ เพราะฉะนั้นก็ซื้อเลยดีกว่า ผ่อนหมดแล้ววันข้างหน้าบ้านก็เป็นของเรา

   ซึ่งเราได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นจากหลายอาชีพ คนไทยที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นนานๆ และคนไทยที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่น ว่าพวกเขามีความคิดเหมือนคนไทยหรือไม่ ทำให้เราเข้าใจและรู้เหตุผลของคนญี่ปุ่นมากขึ้น

 

ครอบครัวคุณมิตะ

   คุณมิตะ เป็นชาวโตเกียว มีภรรยาเป็นคนไทย ครอบครัวคุณมิตะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ

   คุณมิตะ บอกกับเราว่าถ้าครอบครัวของเขาไม่ได้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การซื้อหรือไม่ซื้อบ้านคงต้องคิดเยอะเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

   “บ้านที่ผมซื้อและอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผมซื้อเพราะบ้านอยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถานีรถไฟ เดินทางสะดวก ถ้าบ้านที่ไกลจากสถานีรถไฟเกิน 20-30 นาทีผมก็ไม่ซื้อนะ ตัวผมเองมีงานประจำอยู่แล้วไม่ต้องย้ายงาน จึงคิดที่จะซื้อบ้านอยู่ถาวร ส่วนคุณพ่อคุณแม่ซื้อบ้านอยู่ถาวรที่ออกไปนอกเมืองเพราะท่านอายุมาก อยากได้พื้นที่ส่วนตัว มีวิวชมทิวทัศน์ได้และไม่มีตึกสูงบัง”

 

Q: แล้วทำไมคนญี่ปุ่นส่วนมากไม่นิยมซื้อบ้านคะ

   “ราคาบ้านใหม่ในโตเกียวสูงขึ้นทุกปี บวกกับประชากรลดน้อยลง ถ้าซื้อบ้านไปแล้วขายต่อไม่ได้ ไม่มีคนซื้อก็ขาดทุน”

 

Q: ถ้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยและในอนาคตไม่ขายต่อ คนญี่ปุ่นยังคิดที่จะซื้อบ้านไหม

   “การซื้อบ้านในญี่ปุ่นต้องมีเงินทุนอย่างต่ำ 20% ของราคาบ้าน (หรือคนไทยเรียกว่าเงินดาวน์) เพราะกู้ธนาคารไม่ได้ 100% นะ แค่เงินก้อนแรกตรงนี้คนญี่ปุ่นก็ไม่พร้อมแล้ว”

 

Q: การซื้อบ้านที่ญี่ปุ่นมีเงื่อนไขอื่นๆ อะไรอีกบ้าง เราเคยได้ยินว่าบ้านญี่ปุ่นต้องเสียภาษีทุกปี และต้องทำการบำรุงรักษาหรือรีโนเวตตามกฎหมาย

   “ใช่ครับ ภาษีบ้านในอัตราคงที่ที่ต้องเสียทุกปี ประมาณ 1.4% และภาษีบ้านที่ต้องจ่ายให้กับเขตหรือเมืองที่อาศัยอยู่อีก 0.3% *แตกต่างกันไปแล้วแต่เขตที่อยู่อาศัย

   “นอกจากนี้ยังต้องซ่อมบำรุงตึกหรือบ้านใหม่ทุก 10 ปี แต่คนญี่ปุ่นส่วนมากไม่มีเงินมากพอที่จะทำใหม่ทั้งหมด จึงใช้วิธีการรีโนเวต โดยทั่วไปแล้วทุกๆ 30 ปี ทั้งทำระบบน้ำประปาใหม่ เดินสายไฟใหม่ ทาสีใหม่เป็นต้น”

   คุณมิตะเล่ากรณีพิเศษให้เราฟังว่า

   “ภาษีมรดกของญี่ปุ่นก็แพงนะครับ เพื่อนผมเคยได้รับมรดกเป็นบ้านหนึ่งหลัง แต่เขาต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก เขาตัดสินใจบอกขายบ้าน ซึ่งเพื่อนคนนี้เขาโชคดีที่ได้ราคาสูงพอสมควร จึงขายบ้านหลังนั้นไปและนำเงินส่วนหนึ่งจากการขายบ้านไปเสียภาษีมรดก และเพื่อนผมอีกคนได้รับบ้านเป็นมรดกเหมือนกัน ราคาบ้านที่ขายได้ยังไม่พอจ่ายภาษีเลย เขาจำต้องยกบ้านหลังนั้นให้กับรัฐไปโดยไม่ขอรับบ้านหลังนั้น”

 

   คุณมิโนรุ อายุประมาณ 40 ปี ทำงานเกี่ยวกับร้านอาหาร

   “ความเห็นของผมที่ตอนนี้ไม่ซื้อบ้าน เพราะหน้าที่การงานไม่มั่นคง คนญี่ปุ่นส่วนมากถ้าอายุไม่ถึง 50 ปีจะมีการเปลี่ยนงานบ่อย ถ้าอายุราวๆ 30-40 ปี ทำงานบริษัทก็จะมีการส่งไปทำงานที่ต่างสาขา ถึงแม้จะเป็นบริษัทเดิมแต่เป็นการย้ายไปทำที่สาขาอื่นแทน แต่สำหรับผม ถ้าอนาคตผมมีเงินผมก็อยากซื้อบ้านนะ”

 

   คุณคาตาโอกะ ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

   “ผมคิดว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในโตเกียวสูงขึ้น หรือในเมืองอื่นๆ อย่างโอซาก้าก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ในอนาคตผมอาจจะได้เงินบำเหน็จหรือบำนาญจากรัฐบาลน้อยลง ทำให้ผมอยากเก็บเงินไว้มากกว่าจะเอาไปซื้อบ้าน”

   ปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นหันไปทำงานพิเศษหรือพาร์ตไทม์มากขึ้น พนักงานบริษัทที่กินเงินเดือนเริ่มลดน้อยลง ทำให้การซื้อบ้านนั้นเป็นเรื่องของความเสี่ยงทางการเงิน แม้ว่าเราจะซื้อบ้านใหม่ในปีนี้ก็ตาม แต่ต่อไปมูลค่าของบ้านจะลดลง แล้วยังสิ้นเปลืองค่าบำรุงรักษาบ้านอีกด้วย

 

   น้องจุมมี่ ผู้หญิงไทยที่อาศัยอยู่ประเทศญี่ปุ่นมานานเกินสิบปี ตั้งแต่รุ่นคุณแม่ที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ประเทศญี่ปุ่น

Q: น้องจุมมี่อยู่ประเทศญี่ปุ่นมานาน มีความคิดจะซื้อบ้านที่ญี่ปุ่นไหม

   “คิดค่ะ เคยสอบถามจากธนาคารแต่ติดปัญหาหลายอย่างเรื่องเอกสารและการขอกู้ธนาคาร”

 

Q: ทำไมถึงคิดที่จะซื้อบ้านที่ญี่ปุ่น

   “ตอนนี้จุมมี่จ่ายค่าเช่าบ้านอยู่ทุกเดือน คิดว่าควรซื้อผ่อนไปเรื่อยๆ วันข้างหน้าจะได้มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง จุมมี่มีลูกก็เลยคิดถึงลูกในอนาคตด้วย”

 

Q: แล้วคุณแม่ที่ย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ประเทศญี่ปุ่นหลายสิบปี คุณแม่ได้ซื้อบ้านที่ประเทศญี่ปุ่นไหม

   “คุณแม่ไม่ได้ซื้อค่ะ เพราะคุณแม่มีสินทรัพย์ที่อยู่เมืองไทยอยู่แล้ว หมายถึงคุณแม่ซื้อบ้านและมีอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่เมืองไทยอยู่แล้วค่ะ”

 

   นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่เลือกจะเช่าบ้านแทนการซื้อบ้าน แม้จะมีเงื่อนไขหลายๆ อย่างไม่ตรงกับประเทศไทย แต่เชื่อว่าแนวคิดของพวกเขาอาจทำให้คนอยากมีบ้านตัดสินใจง่ายขึ้น ว่าสรุปแล้วควรจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising