×

สตาร์ทอัพญี่ปุ่นผ่าคลอดลูกหมู 3 ตัวที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้มีอวัยวะเหมาะกับการปลูกถ่ายให้กับมนุษย์

15.02.2024
  • LOADING...
PorMedTec

PorMedTec บริษัทสตาร์ทอัพของญี่ปุ่น ได้ประสบความสำเร็จในการผ่าคลอดลูกหมู 3 ตัวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งลูกหมูดังกล่าวได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มีอวัยวะที่เหมาะสำหรับการปลูกถ่ายเข้าสู่มนุษย์

 

“ในที่สุดเราก็มาถึงจุดเริ่มต้นสำหรับการดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์สำหรับผู้ป่วย” ฮิโรชิ นากาชิมะ ผู้อำนวยการบริหารของ PorMedTec กล่าว โดยตัวของนากาชิมะยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเมจิในโตเกียวด้วย

 

PorMedTec ได้รับเซลล์หมูที่ได้รับการพัฒนาจาก eGenesis บริษัทชีวการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน จากนั้นบริษัทสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นได้แทรกนิวเคลียสเซลล์เข้าไปในเซลล์ไข่ที่ฝังลงในมดลูก ซึ่งนำไปสู่การเกิดของลูกหมูโคลนนิ่ง

 

ทีมวิจัยที่ประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาโกชิมะและมหาวิทยาลัยแพทย์จังหวัดเกียวโต วางแผนที่จะปลูกถ่ายไตของหมูเข้าไปในลิง เพื่อยืนยันความปลอดภัยของอวัยวะ หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีพวกเขาหวังที่จะเริ่มการดำเนินการในช่วงฤดูร้อนนี้ 

 

ปกติอวัยวะหมูมักจะถูกปฏิเสธจากร่างกายทันทีเมื่อปลูกถ่ายเข้าสู่มนุษย์ เพื่อเอาชนะปัญหานี้ eGenesis ได้ดัดแปลงยีนในหมู 10 ตัวในสหรัฐอเมริกา และได้มีการทดลองปลูกถ่ายไตจากหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเข้าสู่ลิงแล้ว โดยในเดือนตุลาคม 2023 มีรายงานว่า ลิงเหล่านี้มีชีวิตรอดได้นานถึงสองปีหรือมากกว่าหลังจากการปลูกถ่าย

 

ตามที่นากาชิมะเผย เป้าหมายของ PorMedTec คือการปลูกถ่ายไตหมูเข้าสู่มนุษย์ภายในปี 2025 และต่อมาจะดำเนินการปลูกถ่ายหัวใจหมู เหตุที่ต้องเป็นไตเพราะปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคอย่างรุนแรงประมาณ 350,000 คนในญี่ปุ่นต้องเข้ารับการล้างไตเนื่องจากไตวาย ซึ่งต้องไปโรงพยาบาลหลายครั้งต่อสัปดาห์เพื่อรับการรักษาหลายชั่วโมง ซึ่งสร้างความเครียดต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

 

ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในประเทศสำหรับการล้างไตมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านเยนต่อปี คิดเป็นประมาณ 4% ของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งหมดในประเทศ

 

การรับการปลูกถ่ายไตช่วยให้ผู้ป่วยลดทั้งการต้องมาโรงพยาบาลและข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน รายชื่อผู้รอรับการปลูกถ่ายไตในญี่ปุ่นมีประมาณ 14,000 ราย โดยมีเวลารอเฉลี่ยประมาณ 15 ปี แต่หลายคนเสียชีวิตก่อนได้รับการปลูกถ่าย

 

จำนวนอวัยวะบริจาคจากมนุษย์ที่จำกัดเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่นที่มีเพียงประมาณ 3% ของผู้ป่วยที่ได้รับการบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่สมองตาย

 

ในทศวรรษ 2010 การแก้ไขจีโนม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แก้ไขยีนอย่างมีประสิทธิภาพได้ปรากฏขึ้น และหมูที่มีการดัดแปลงหลายอย่างได้รับการพัฒนาสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยในปี 2022 มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ประกาศว่า ได้ปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมให้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย

 

ผู้ป่วยเสียชีวิตหลังจากประมาณสองเดือน แต่การผ่าตัดดึงดูดความสนใจที่ทำให้ Xenotransplantation ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์เข้าสู่มนุษย์ เกิดขึ้นได้จริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X