คณะนักวิจัยในญี่ปุ่นพบหลักฐานที่ยืนยันว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในก้อนเมฆ เชื่อเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมเตือนให้เร่งศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะสายเกินแก้
บทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ปีนภูเขาไฟฟูจิและภูเขาโอยามะ เพื่อรวบรวมน้ำจากหมอกที่ปกคลุมยอดเขา จากนั้นจึงใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงกับตัวอย่างน้ำที่เก็บมาได้ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมงานตรวจพบโพลีเมอร์ 9 ชนิด และยาง 1 ชนิดในไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยมีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร
งานวิจัยระบุด้วยว่า น้ำจากก้อนเมฆแต่ละลิตรมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบตั้งแต่ 6.7-13.9 ชิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไฮโดรฟิลิก (Hydrophilic) หรือโพลีเมอร์ที่ชอบน้ำนั้นมีอยู่มากมาย บ่งชี้ว่าอนุภาคดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดเมฆ ซึ่งส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อระบบภูมิอากาศ
“หากปัญหา ‘มลพิษทางอากาศจากพลาสติก’ ไม่ได้รับการจัดการในเชิงรุก ปัญหานี้ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยาในที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกในอนาคต” ฮิโรชิ โอโคจิ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของบทความวิจัยชิ้นนี้ เตือนผ่านแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (27 กันยายน)
โอโคจิกล่าวเสริมว่า เมื่อไมโครพลาสติกลอยขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนและสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด ไมโครพลาสติกจะสลายตัวและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ไมโครพลาสติกหมายถึงอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม โดยปะปนกับน้ำทิ้งหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งทอ ยางรถยนต์สังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และอื่นๆ อีกมากมาย
ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วเหล่านี้ยังถูกพบภายในตัวปลาในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทร ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วทะเลน้ำแข็งอาร์กติก และถูกฝังอยู่ในหิมะในเทือกเขาพิเรนีส ระหว่างฝรั่งเศสและสเปน
อย่างไรก็ตาม กลไกการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกทางอากาศนั้นยังไม่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอยู่จำกัดมาก
“เท่าที่ทราบ นี่เป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในน้ำจากก้อนเมฆ” คณะนักวิจัยระบุในบทความ
นอกจากอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างแล้ว หลักฐานใหม่นี้ยังเชื่อมโยงไมโครพลาสติกกับผลกระทบหลายประการต่อสุขภาพหัวใจและปอด ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งอีกด้วย
ภาพ: anomaly026 via ShutterStock
อ้างอิง: