กลุ่มคู่รักของผู้มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นกว่า 13 คู่ พร้อมด้วยกลุ่มผู้สนับสนุน ต่างมารวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลร่างกฎหมายให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังการผลักดันประเด็นนี้ในแดนปลาดิบเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ในหลายพื้นที่จะประกาศอนุญาตให้อยู่กินฉันคู่ชีวิตได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
กลุ่ม LGBTQ ในญี่ปุ่นยังประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นยังเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม การเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองอาจเพิ่มความเสี่ยงในการถูกเลือกปฏิบัติและตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ทั้งจากครอบครัว เพื่อน รวมถึงสังคมโดยรอบ
การที่รัฐยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิให้แก่กลุ่มคนเพศอื่นๆ นอกเหนือไปจากเพศชายและเพศหญิง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐก็ยังมีช่องโหว่อยู่มากในการจัดการและบริหารประเทศ เพื่อให้พลเมืองของรัฐทุกคนได้รับความคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
ผลสำรวจของบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง Dentsu เมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ระบุว่า มากกว่า 70% ของชาวญี่ปุ่นผู้ตอบแบบคำถาม 6,229 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี สนับสนุนให้รัฐออกกฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยกระแสสนับสนุนในประเด็นนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทมีสวัสดิการที่ครอบคลุมสิทธิของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน มหาวิทยาลัยหญิงล้วนบางแห่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาที่เป็นสาวข้ามเพศ บางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง สามารถที่จะเลือกสวมกางเกงหรือกระโปรงมาโรงเรียนก็ได้
ปัจจุบันมีประเทศและดินแดนปกครองตนเองที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้วถึง 28 แห่งทั่วโลก โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปี 2001 ก่อนที่จะมีอีกหลายประเทศประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวตามมาในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรปและลาตินอเมริกา โดยยังไม่มีประเทศในเอเชียสักประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: