หนี้รัฐบาลญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดในกลุ่ม G7 เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลสูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยยอดพันธบัตรรัฐบาลคงค้างของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 9.46 ล้านล้านเยนในเวลาเพียง 3 เดือน นอกจากนี้ ระดับหนี้ของรัฐบาลยังคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หลังคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติข้อเสนองบประมาณเพิ่มเติมมูลค่า 29 ล้านล้านเยน
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปคงค้าง ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเพื่อใช้ในงานสาธารณะหรือชดเชยการขาดดุล พุ่งขึ้น 9.46 ล้านล้านเยน (หรือราว 2.4 ล้านล้านบาท) จากเมื่อ 3 เดือนก่อน ขณะที่หนี้ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรและการกู้ยืมประเภทอื่นๆ อยู่ที่ 1,251 ล้านล้านเยน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม โดยจากจำนวนประชากรที่ประมาณ 124.83 ล้านคน ทำให้ภาระหนี้ต่อหัวจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านเยนต่อคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเตรียมออกหนี้เพิ่ม เนื่องจากการออกพันธบัตรทั่วไปในปีงบประมาณ 2022 ยังไม่ถึงขีดจำกัด และคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพิ่งอนุมัติข้อเสนองบประมาณเพิ่มเติมมูลค่า 29 ล้านล้านเยนสำหรับปีงบประมาณนี้ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของครัวเรือนและธุรกิจ จากต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และการอ่อนค่าของเงินเยน โดยหนี้พันธบัตรทั่วไปคงค้างคาดว่าจะสูงถึง 1,042 ล้านล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ (เดือนมีนาคม)
ด้วยหนี้ทั่วไปของรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ 262.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2021 ญี่ปุ่นจึงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงสุดในกลุ่ม G7 ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ที่หนี้รัฐบาลอยู่ที่ 128.1% ของ GDP สหราชอาณาจักรที่ 95.3% ของ GDP และเยอรมนีที่ 69.6% ของ GDP
เมื่อปี 2020 GDP ในทุกประเทศ G7 หดตัวอย่างหนัก เนื่องจากการระบาดใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนธุรกิจและผู้บริโภค แต่เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในหลายส่วนของโลก อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ในสมาชิก G7 ทั้งหมดในปี 2021 ก็ดีขึ้น ยกเว้นเยอรมนีและญี่ปุ่น
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในตลาดตราสารหนี้ของญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายที่จะคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไว้ไม่เกิน 0.25% ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่ม และเป็นเจ้าของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวถึง 51.3% โดยถือครองพันธบัตรทั้งสิ้น 536.6 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนตุลาคม โดยเมื่อเดือนตุลาคม BOJ ได้ซื้อพันธบัตรมูลค่า 12.5 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 ที่เคยมีมา
อ้างอิง: