ราคาหุ้นบริษัทผู้ผลิตเกมในญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นยกแผง สวนทางกับราคาหุ้นของ Tencent และ NetEase ยักษ์ใหญ่ในวงการเกมของจีนที่กอดคอกันร่วงลง 8% และ 11% ตามลำดับ หลังทางการจีนออกกฎห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยอนุญาตให้เล่นได้เพียง 1 ชั่วโมงต่อวันในวันศุกร์ วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น
โดยราคาหุ้นของ Koei Tecmo เจ้าของเกมยอดนิยม ‘Romance of the Three Kingdoms’ ทะยานขึ้นถึง 23% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาหุ้นของ Konami ผู้พัฒนาเกม ‘eFootball’ ก็ปรับเพิ่มขึ้น 13% ในช่วงเดียวกัน
เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท Capcom ผู้ผลิตเกมอันโด่งดังอย่าง ‘Resident Evil’ PUBG ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น 11%
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นบริษัทเกมญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากงาน Tokyo Game Show ที่จะถูกจัดในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีบริษัทเกมนับร้อยแห่งมาเปิดตัวแสดงสินค้าใหม่ของพวกเขา ทำให้นักลงทุนต่างคาดหวังโอกาสทำกำไรจากหุ้นบริษัทที่มีเกมยอดนิยม
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ยังมองว่าการออกกฎควบคุมการเล่นเกมของจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัทเกมในญี่ปุ่น
“บริษัทเกมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้พัฒนาเกมบนมือถือที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เล่นชาวจีน” มาซาฮิโระ โอโนะ นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley MUFG Securities ระบุ
โอโนะ กล่าวว่า ในประเทศจีน เกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) จะเป็นที่นิยมของผู้เล่น ขณะที่เกมเมอร์ในญี่ปุ่นจะนิยมเกมแนวการไขปริศนา (Puzzle Games) มากกว่า ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่บริษัทผู้พัฒนาเกมบนมือถือสัญชาติญี่ปุ่นไม่ได้รุกตลาดจีนอย่างจริงจัง
Koei Tecmo ใช้วิธีขายลิขสิทธิ์เกมชื่อดังของตัวเองให้กับบริษัทเกมสัญชาติจีนอีกทอดหนึ่งแทนที่จะเข้าไปทำตลาดเอง โดยฐานผู้เล่นเกมเหล่านั้นยังเป็นกลุ่มที่อายุมากกว่า 20 ปีซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมอีกด้วย ทำให้หุ้นของ Koei Tecmo พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในสัปดาห์นี้
การออกกฎควบคุมตลาดเกมของจีนซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกม นับตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยนอกจากราคาหุ้นของ Tencent และ NetEase ที่ร่วงลงรุนแรงแล้ว ราคาหุ้นของ Nexon บริษัทพัฒนาเกมที่ร่วมทุนกันระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ปรับตัวลดลง 5% เช่นกัน เนื่องจากฐานรายได้ของบริษัทราว 30% อยู่ในประเทศจีน
ขณะที่หุ้นบริษัท Krafton เจ้าของเกม PlayerUnknown’s Battlegrounds หรือ PUBG ก็ราคาลดลงราว 3% นับจากวันที่ 10 สิงหาคม โดยจีนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของ Krafton
ในช่วงปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทเกมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นจากอานิสงส์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด ซึ่งทำให้คนอยู่บ้านและใช้เวลาเล่นเกมมากขึ้น อย่างไรก็ดี หุ้นของ Sony and Nintendo สองผู้ผลิตเกมคอนโซลรายใหญ่กลับปรับตัวดีขึ้นน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ผลิตสินค้าได้ช้ากว่าต่อความต้องการของตลาด
เคนจิ ฟุคุยามะ นักวิเคราะห์จาก UBS Securities ในโตเกียว ประเมินว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปสำหรับผลิตเกมคอนโซลจะลากยาวไปจนถึงปีหน้า จึงแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงหุ้นในกลุ่มบริษัทเกมที่เน้นการผลิตซอฟต์แวร์แทนการลงทุนในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์
โดยนักวิเคราะห์ยังประเมินด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนจะทำให้ผู้ผลิตเกมสัญชาติญี่ปุ่นหันไปโฟกัสตลาดที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายมากกว่า เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ้างอิง: