‘ญี่ปุ่น’ หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มีทั้งวัฒนธรรมเก่าแก่ชวนหลงใหล ทิวทัศน์ธรรมชาติที่น่าประทับใจ ไปจนถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยของโลกอนาคตที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจได้เสมอ
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ จัดงาน Japanese Film Festival 2019 หรือเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2562 ครั้งที่ 42 เพื่อฉลองครบรอบ 132 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ด้วยการคัดเลือกภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายเรื่องหลากรสกว่า 12 เรื่องที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และบรรยากาศของประเทศญี่ปุ่นมาให้ได้สัมผัสกัน
©2016 “Chihayafuru” Film Partners © Yuki Suetsugu / KODANSHA LTD.
Chihayafuru Part 1 (กำกับโดย โนริ โคอิซึมิ)
เริ่มต้นจากภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ผสมดราม่า Chihayafuru ที่นำมาฉายในงาน Japanese Film Festival ทั้ง 3 ภาค โดย Chihayafuru สร้างจากมังงะชื่อเดียวกันของ ยูกิ สึเอตสึงุ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 ในนิตยสารการ์ตูน Be Love ก่อนจะคว้ารางวัลชนะเลิศการ์ตูนยอดเยี่ยมจากงาน Manga Taisho ปี 2009 และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2016
Chihayafuru Part 1 เล่าเรื่องราวของ อายาเสะ จิฮายะ (รับบทโดย ฮิโรเสะ ซึสุ), มาชิมะ ไทจิ (รับบทโดย โนมุระ โชเฮย์) และวาตายะ อาราตะ (รับบทโดย แมคเคนยู) เพื่อนสมัยเด็กที่มีความผูกพันและชื่นชอบการเล่นไพ่คารุตะ (การเล่นไพ่แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น) ด้วยกันเป็นประจำ แต่แล้ววันหนึ่งอาราตะต้องย้ายไปอยู่จังหวัดฟุคุอิ ทำให้พวกเขาไม่ได้เจอกันอีก ก่อนที่จิฮายะและไทจิจะกลับมาเจอกันอีกครั้งในช่วงมัธยมปลาย โดยพวกเขาร่วมกันก่อตั้ง ‘ชมรมคารุตะ’ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันไพ่คารุตะระดับชาติ เพราะจิฮายะเชื่อว่าถ้าเธอสามารถเข้ารอบในการแข่งขันระดับชาติได้ เธอจะได้เจอกับอาราตะอีกครั้ง
ตัวอย่าง Chihayafuru Part 1
©2016 “Chihayafuru” Film Partners © Yuki Suetsugu / KODANSHA LTD.
Chihayafuru Part 2 (กำกับโดย โนริ โคอิซึมิ)
หลังจาก Chihayafuru Part 1 เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในเดือนมีนาคม 2016 Chihayafuru Part 2 ก็ต่อคิวเข้าฉายตามมาติดๆ ในเดือนเมษายนปีเดียวกันทันที
Chihayafuru Part 2 เล่าเรื่องราวหลังจากที่จิฮายะก่อตั้งชมรมคารุตะกับไทจิ และสามารถชนะการแข่งขันจนเป็นตัวแทนของโตเกียวในการแข่งขันไพ่คารุตะระดับชาติ แต่แล้วความหวังที่จิฮายะจะได้เจอกับอาราตะกลับต้องพลิกผัน เมื่ออาราตะบอกกับเธอว่า “จะไม่เล่นไพ่คารุตะอีกแล้ว”
ทำให้จิฮายะที่ถึงแม้จะเสียใจกับคำพูดของอาราตะ แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับชาติ และหลังจากที่จิฮายะรู้ว่าเธออาจจะมีโอกาสได้แข่งขันกับ วาคามิยะ ชิโนบุ ผู้เล่นคารุตะหญิงอันดับ 1 ของญี่ปุ่นในการแข่งขันระดับชาติ เธอก็หมกมุ่นอยู่กับการเอาชนะจนเริ่มถอยห่างจากเพื่อนร่วมทีม นำมาซึ่งรอยร้าวเล็กๆ ภายในทีมที่ความรู้สึกของพวกเขาเริ่มแตกต่างกันออกไป
ตัวอย่าง Chihayafuru Part 2
©2018 “Chihayafuru” Film Partners © Yuki Suetsugu / KODANSHA LTD.
Chihayafuru Part 3 (กำกับโดย โนริ โคอิซึมิ)
จากความสำเร็จของ Chihayafuru Part 1 และ Chihayafuru Part 2 ที่มีรายชื่อเข้าชิงในงาน 41st Hochi Film Awards ถึง 5 สาขา และสามารถคว้ารางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากงาน 40th Japan Academy Prize จากการแสดงของแมคเคนยู รวมถึงเรื่องราวของพาร์ต 2 ที่ค้างคากำลังเข้มข้น
Chihayafuru Part 3 ดำเนินเรื่องราวมาถึงฤดูร้อนที่ยากจะลืมเลือนของชมรมคารุตะที่มีเป้าหมายเพื่อเข้าแข่งขันในระดับประเทศช่วงปีสุดท้ายของการเรียนมัธยมปลาย จิฮายะพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะชนะการคัดเลือกรอบแข่งขันที่รอมานาน ในขณะที่ไทจิกลับออกจากชมรมกะทันหัน ชะตากรรมของเพื่อนวัยเด็กทั้ง 3 คนกำลังเคลื่อนไปสู่อนาคตของพวกเขาอย่างช้าๆ
ตัวอย่าง Chihayafuru Part 3
Laughing Under the Clouds (กำกับโดย คัตสึยูกิ โมโตฮิโระ)
อีกหนึ่งภาพยนตร์ดราม่าแอ็กชันที่สร้างจากมังงะในนิตยสารการ์ตูนรายเดือน Comic Avarus เรื่อง Donten ni Warau ของ คาระคาระ เคมุริ ในปี 2011-2013 สู่ภาพยนตร์ Laughing Under the Clouds ในปี 2016
Laughing Under the Clouds เล่าเรื่องราวในช่วงสุดท้ายของยุคซามูไร (เอโดะ) รัฐบาลใหม่สมัยเมจิก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีตำนานกล่าวไว้ว่า งูยักษ์โอโรจิ ที่จะฟื้นขึ้นมาทุกๆ 300 ปีเพื่อทำลายประเทศญี่ปุ่นกำลังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทำให้สามพี่น้องผู้พิทักษ์ศาลเจ้าคุโมะอย่าง เท็นกะ (รับบทโดย โซตะ ฟุคุชิ), โซระมารุ (รับบทโดย นากายามะ ยูมะ) และจูทาโร่ (รับบทโดย วากายามะ คิราโตะ) ร่วมกันป้องกันไม่ให้งูยักษ์โอโรจิกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ร่วมด้วยหน่วยพิเศษของกองทัพญี่ปุ่นอย่าง ‘ยามาอินุ’ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อไม่ให้งูยักษ์ทำลายประเทศ แต่ในทางกลับกัน กลุ่มนินจาฟูมะเองก็ต้องการพลังของงูยักษ์เพื่อใช้ครอบครองญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากันอย่างเลี่ยงไม่ได้
©東海テレビ放送
Life Is Fruity (กำกับโดย เคนชิ ฟุชิฮาระ)
ภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับ เคนชิ ฟุชิฮาระ ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีในหมวดวัฒนธรรมจากงาน Kinema Junpo Award ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสองสามีภรรยาที่ใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติในจังหวัดไอจิของประเทศญี่ปุ่น
Life Is Fruity เล่าเรื่องราวของ ซึบาตะ ชูอิจิ สถาปนิกวัย 90 ปี และภรรยาของเขา ซึบาตะ ฮิเดโกะ วัย 87 ปี พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านที่ชูอิจิเป็นคนออกแบบ ซึ่งรายล้อมไปด้วยผัก 70 ชนิดและผลไม้ 50 ชนิด ที่ซึ่งพวกเขาอยู่ในความกลมกลืนกับธรรมชาติและการยอมรับอย่างอ่อนโยนเกี่ยวกับความตายที่กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก การแต่งงาน และความสัมพันธ์ของมนุษย์และโลกได้อย่างอบอุ่นและละเมียดละไม
ตัวอย่าง Life Is Fruity
©2017 Lu Film partners
Lu Over the Wall (กำกับโดย มาซาอากิ ยูอาสะ)
ภาพยนตร์แอนิเมชันผจญภัยผสมผสานความคอเมดี้ Lu Over the Wall ที่ได้รับรางวัลจากงาน Annecy International Animated Film Festival 2017 และ Mainichi Film Awards 2018
Lu Over the Wall เล่าเรื่องราวของ ไค นักเรียนมัธยมต้นที่อาศัยอยู่ในเมืองฮินาชิ หมู่บ้านประมงที่อ้างว้าง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาต้องระหกระเหินจากโตเกียวมาสู่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เกิดจากการหย่าร้างของพ่อแม่ ซึ่งทำให้ไคที่ต้องมาอาศัยกับพ่อรู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกแย่กับชีวิตในโรงเรียน โดยความสุขของเขามีเพียงหนึ่งเดียวคือการอัปโหลดเพลงที่เขาเขียนลงในอินเทอร์เน็ต
แต่แล้ววันหนึ่งเพื่อนร่วมชั้นเรียนของไคอย่าง คูนิโอะ และยูโฮะ ก็เชิญเขามาร่วมวง SElREN และในขณะที่เขาฝืนตามเพื่อนไปที่เกาะ Merfolk เพื่อซ้อมดนตรี ไคก็ได้พบกับนางเงือกสาว ‘ลู’ ที่กำลังร้องเพลงอย่างสนุกสนานและเต้นอย่างไร้เดียงสา เมื่อไคเริ่มใช้เวลากับเธอ เขาก็เริ่มกล้าที่จะพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา
ตัวอย่าง Lu Over the Wall
©2018 スタジオ地図
Mirai no Mirai (กำกับโดย มาโมรุ โฮโซดะ)
อีกหนึ่งแอนิเมชันดราม่าผจญภัยของผู้กำกับ มาโมรุ โฮโซดะ ซึ่งเคยผ่านการกำกับแอนิเมชันอย่าง The Girl Who Leapt Through Time (2006), Summer Wars (2009), Wolf Children (2012), The Boy and the Beast (2015) ฯลฯ โดยแอนิเมชัน Mirai no Mirai ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในงานประกาศรางวัล Golden Globes สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย อาทิ Annecy International Animation Film Festival, Sydney Film Festival และ BFI London Film Festival
Mirai no Mirai เล่าเรื่องราวของ คุน เด็กผู้ชายเอาแต่ใจคนหนึ่งที่เพิ่งมีน้องสาวคนใหม่ และตั้งแต่น้องสาวของเขาเกิดมา คุนก็รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียความรักจากพ่อและแม่ จนทำให้เขารู้สึกสับสน เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบกับสาวลึกลับชื่อ มิไร ที่เรียกเขาว่า ‘พี่ชาย’ และจากการชี้แนะของมิไร ทำให้คุนเดินทางผ่านช่วงเวลาซึ่งเป็นเรื่องราวของครอบครัวเขา และเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของพี่ชายตัวเล็กในโลกมหัศจรรย์
ตัวอย่าง Mirai no Mirai
©2017 “MIXED DOUBLES” Film Partners
Mixed Doubles (กำกับโดย จุนอิจิ อิชิคาวะ)
ภาพยนตร์แนวครอบครัวผสมกีฬา เคล้าหยาดเหงื่อและความฮาของผู้กำกับ จุนอิจิ อิชิคาวะ และนักเขียนบท เรียวตะ โคซาวะ ที่ทั้งคู่เคยฝากผลงานเอาไว้กับภาพยนตร์เรื่อง April Fools ในปี 2015
Mixed Doubles เล่าเรื่องราวของ โทมิตะ ทามาโกะ (รับบทโดย อารากาอิ ยูอิ) ที่ตอนเด็กเธอเคยเป็นนักปิงปองอัจฉริยะจากการเคี่ยวกรำของผู้เป็นแม่ ทามาโกะคบกับ อากิฮิโกะ เอจิมะ (รับบทโดย เซโตะ โคจิ) หนุ่มฮอตของบริษัท ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมปิงปอง จนกระทั่งวันหนึ่งพนักงานใหม่อย่าง โองาซาวาระ ไอริ (รับบทโดย นากาโนะ เมอิ) ก็ขโมยเขาไปจากเธอ ทามาโกะที่ช้ำรักเดินทางกลับบ้านเกิดของเธอและได้พบกับสมาชิกชมรมปิงปองที่แม่ของเธอเคยดูแล รวมถึง ฮากิวาระ ฮิซาชิ (รับบทโดย เอย์ตะ) ที่ทำให้ทามาโกะเริ่มฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะเอาชนะคู่ของเอจิมะและไอริด้วยการแข่งขันปิงปองคู่ผสม
ตัวอย่าง Mixed Doubles
© シネボイス
Shashin Koshien Summer in 0.5 Seconds (กำกับโดย ฮิโรชิ สุงาวาระ)
อีกหนึ่งภาพยนตร์ดราม่าเคล้าหยาดเหงื่อและน้ำตาของวัยรุ่น กับการแข่งขันประกวดถ่ายภาพที่แสนดุเดือดหนึ่งเดียวในประเทศญี่ปุ่น Shashin Koshien
Shashin Koshien Summer in 0.5 Seconds เล่าเรื่องราวของนักเรียนมัธยมทั้งหมด 18 แห่งที่เข้าร่วมการแข่งขันประกวดภาพถ่ายระดับชาติที่มีชื่อว่า Shashin Koshien ที่จัดขึ้นที่ฮอกไกโด ซึ่งครอบคลุมไปด้วยป่าไม้ขนาดใหญ่ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องถ่ายทอดความงามของญี่ปุ่นและจิตวิญญาณของมนุษย์ผ่านภาพถ่าย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง และนำแสดงโดย อากิโนะ โยโกะ, ชิบะ ชินอิจิ, คาสะ นัตสึกิ, ฮากิวาระ ริคุ และชิราฮาเสะ ไคระ
ตัวอย่าง Shashin Koshien Summer in 0.5 Seconds
©2018 The Crimes That Bind Film Production Committee
© Keigo Higashino/KODANSHA All Rights Reserved.
The Crimes That Bind (กำกับโดย คัตสึโอะ ฟุคุซาวะ)
จากนวนิยายเรื่อง Inori no Maku ga Oriru Toki ของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ สู่ภาพยนตร์ดราม่าลึกลับ The Crimes That Bind ในปี 2018
The Crimes That Bind เล่าเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนของสองนักสืบ คากะ เคียวอิจิโระ (รับบทโดย อาเบะ ฮิโรชิ) และมัตสึมิยะ ชูเฮย์ (รับบทโดย มิโซบาตะ จุนเป) หลังจากที่มีการพบศพผู้หญิงที่มีชื่อว่า โอชิทานิ มิจิกะ ถูกรัดคอจนเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของอพาร์ตเมนต์ โคชิคาวะ มัตสึโอะ ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ในระหว่างที่นักสืบ มัตสึมิยะ ชูเฮย์ กำลังสืบสวนอยู่นั้น เขาก็ค้นพบชื่อของ อาซาอิ ฮิโรมิ (รับบทโดย มัตสึชิมะ นานาโกะ) ที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้ตายอย่าง โอชิทานิ มิจิกะ เช่นเดียวกับนักสืบ คากะ เคียวอิจิโระ ที่รู้สึกฉงนกับสิ่งที่ค้นพบ และทำให้เขานึกถึงแม่ของเขาที่หายตัวไปอย่างกะทันหัน
ตัวอย่าง The Crimes That Bind
The Scythian Lamb (กำกับโดย ไดฮาจิ โยชิดะ)
ภาพยนตร์ลึกลับระทึกขวัญจากมังงะเรื่อง Hitsuji no Ki ของนักเขียน ทัตสึฮิโกะ ยามากามะ และนักวาดภาพประกอบ มากิโอะ อิการาชิ ในปี 2011-2014 ที่พาคนต่างถิ่นที่มี ‘อดีต’ ทั้ง 6 คนมาเจอกัน
The Scythian Lamb เล่าเรื่องราวของคนแปลกหน้า 6 คนที่เดินทางมาถึงเมืองอุโอบุกะ เมืองท่าเรือเก่าเล็กๆ ซึ่งมี ซึกิสึเอะ ฮาจิเมะ (รับบทโดย นิชิกิโดะ เรียว) เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยที่มีหน้าที่ทำให้คนแปลกหน้าที่มี ‘อดีต’ ทั้ง 6 คนปรับตัวให้เข้ากับเมืองนี้ โดยอดีตของพวกเขาจะไม่ถูกเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ซึกิสึเอะและผู้คนในเมือง
ก่อนที่การค้นพบร่างคนที่ท่าเรือจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาให้เจ้าหน้าที่ซึกิสึเอะและเพื่อนสมัยมัธยมของเขาอย่าง อายะ และผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ต้องเข้าไปพัวพันกับจุดจบที่สะเทือนอารมณ์
©2018″YAKINIKU DRAGON” Film Partners
Yakiniku Dragon (กำกับโดย Wui-Sin Chong (Wishing Chong))
จากละครเวทีชื่อเดียวกันในปี 2008 สู่ภาพยนตร์ดราม่าในยุค 70s ที่มีภูมิภาคคันไซเป็นแบ็กกราวด์
Yakiniku Dragon เล่าเรื่องราวในปีที่มีการจัดงาน Osaka Expo ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองในญี่ปุ่น Yakiniku Dragon คือชื่อของร้านบาร์บีคิวที่เปิดโดยครอบครัวเล็กๆ ที่อยู่ชานเมืองของคันไซ พวกเขามีลูกสาวทั้งหมด 3 คนคือ ชิซุกะ (รับบทโดย โยโกะ มากิ), ริกะ (รับบทโดย อิโนอุเอะ มาโอะ) และมิกะ (รับบทโดย ซากุราบะ นานามิ) ร้านอาหารจะคึกคักอยู่เสมอด้วยลูกค้าประจำที่เฮฮาเสียงดัง รวมถึงเพื่อนวัยเด็กของชิซุกะที่ชื่อว่า เทะสึโอะ (รับบทโดย โออิซุมิ โย) อย่างไรก็ตาม ความผูกพันอันแข็งแกร่งที่โอบอุ้ม Yakiniku Dragon เอาไว้อย่างเรียบง่ายนี้ก็กำลังถูกทดสอบด้วยกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ตัวอย่าง Yakiniku Dragon
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Japanese Film Festival 2019 จัดฉายระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 ในราคาที่นั่งละ 120 บาท ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
- และเพื่อเปิดโอกาสให้แฟนภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้ชมภาพยนตร์ในเทศกาลอย่างทั่วถึง Japanese Film Festival 2019 ยังจัดฉายในอีก 2 ภาค 2 จังหวัดอย่างเชียงใหม่และภูเก็ต
- เชียงใหม่ จัดฉายระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2019 ในราคาที่นั่งละ 80 บาท ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์
- ภูเก็ต จัดฉายระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2019 ในราคาที่นั่งละ 80 บาท ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต
- สามารถเช็กรอบฉายพร้อมจองและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ที่ www.sfcinemacity.com ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2019 เป็นต้นไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 0 2268 8888, เว็บไซต์ www.sfcinemacity.com, เฟซบุ๊กเพจ https://web.facebook.com/WeLoveSF/ หรือเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ที่หน้าโรงภาพยนตร์