วันนี้ (20 มิถุนายน) เงินเยนอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 26 ปี เมื่อเทียบบาท ด้านนักวิเคราะห์แนะจับตาการประชุมของ BOE วันพฤหัสบดีนี้ โดยหาก BOE ปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณขึ้นต่อ อาจกดดันเงินเยนให้อ่อนค่าลงอีก
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยนเอง ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่แถว 142 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ ขณะที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าตาม โดยยังทรงตัวอยู่ประมาณ 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นเมื่อเยนและบาท Cross กันวันนี้จึงอยู่ที่ประมาณ 24.30-24.42 บาทต่อ 100 เยน นับเป็นการอ่อนค่าหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
โดยปัจจัยส่วนใหญ่ที่กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าช่วงนี้มาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ในการประชุมที่ผ่านมา ทั้งมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (YCC) และยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษไว้ ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ อย่างเช่นธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าอยากขึ้นต่อ ทำให้เห็นเงินทุนไหลไปทางเงินยูโร ซึ่งมีผลทำให้เยนอ่อนค่าด้วย
นอกจากนี้ พูนยังกล่าวอีกว่ามีปัจจัยที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือ การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งถ้าหาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยต่อ และส่งสัญญาณคล้ายกับ ECB ก็อาจเห็นเอฟเฟกต์ปอนด์/เยน คล้ายกับยูโร/เยนได้
“หาก BOE ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นต่อ คนอาจเข้าซื้อปอนด์และขายเยน จึงทำให้เยนอาจอ่อนค่าได้ เมื่อมาเทียบบาท เยนเลยอาจถูกได้บ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะอ่อนจนหลุด 24 บาทต่อ 100 เยน เนื่องจากการเคลื่อนไหวแถวๆ นี้ถือว่าถูกมากแล้ว และเราจึงแนะนำให้ลูกค้าทยอยซื้อ ไม่ว่าจะเป็นในมุมของผู้นำเข้า (Importer) ที่มีภาระนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีมาก หรือในมุมของคนอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ควรทยอยซื้อ” พูนกล่าว
โดยพูนยังมองว่าธุรกรรมเยน/บาทไม่น่ากลับไปแตะระดับช่วงต้มยำกุ้งได้ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวที่ระดับเกือบ 20 บาทต่อ 100 เยน เนื่องจาก BOJ ไม่น่าจะยอมให้เยนอ่อนค่าขนาดนั้น และจะเข้ามาแทรกแซง
นอกจากนี้ พูนยังแนะให้จับตาการประชุมของ BOJ ในรอบวันที่ 27-28 กรกฎาคมนี้ โดยหาก BOJ ปรับประมาณการเงินเฟ้อเป็น 2% หรือสูงกว่า ก็อาจตามมาด้วยการปรับนโยบายการเงิน ซึ่งพูนมองว่า BOJ น่าจะเริ่มจากการปรับนโยบาย YCC พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีก่อน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทีหลัง เนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นค่อนข้างสูงแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดซึ่งอยู่ที่ 3.4% แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางสำนักมองว่า BOJ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ เนื่องจาก 2 ความกังวลหลัก ได้แก่ การต่อรองเรื่องค่าจ้างในปีหน้า และการเมืองในญี่ปุ่นที่อาจเกิดการยุบสภาปีนี้ ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นญี่ปุ่น และคะแนนเสียงที่ดูไม่ค่อยดีของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี