จดหมายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขู่จะเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกับหลายประเทศ รวมถึงชาติพันธมิตรสำคัญ ได้สร้างแรงกระเพื่อมและความรู้สึก ‘ช็อก’ และ ‘ผิดหวัง’ ไปทั่วโลก ขณะที่หลายประเทศยังคงแสดงความหวังว่าการเจรจาต่อรองจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่าการประกาศอัตราภาษีล่าสุดนั้น ‘น่าผิดหวังอย่างแท้จริง’ แต่ก็ยังคงยืนยันที่จะเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสองชาติที่จะถูกขึ้นอัตราภาษีเป็น 25% จากที่เคยประกาศไว้ที่ 24%
อย่างไรก็ตาม อิชิบะตั้งข้อสังเกตในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันอังคาร (8 ก.ย.) ว่า รัฐบาลทรัมป์ได้เสนอแผนที่จะเจรจาต่อเนื่องไปจนถึงเส้นตายเดือนสิงหาคม และ ‘เนื้อหาในจดหมายอาจมีการปรับแก้ได้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของญี่ปุ่น’
ทางด้านเกาหลีใต้ ซึ่งเผชิญกับอัตราภาษี 20% ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยประกาศไว้ในเดือนเมษายน บรรดาผู้นำได้ให้คำมั่นว่าจะเร่งเจรจาเรื่องภาษีกับรัฐบาลทรัมป์เพื่อ ‘แก้ไขความไม่แน่นอนทางการค้าอย่างรวดเร็ว’
โดยมีรายงานว่า ยอฮันกู รัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ ร้องขอให้สหรัฐฯ ลดภาษีสำหรับสินค้าจำพวกรถยนต์และเหล็กให้กับบริษัทเกาหลีด้วย
สำหรับประเทศไทย พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขารู้สึก ‘ตกใจเล็กน้อย’ กับอัตราภาษีล่าสุด แต่ยังคง ‘มีความเชื่อมั่น’ ว่าจะสามารถเจรจาให้อัตราภาษีลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ ได้
ประเทศไทยเผชิญกับอัตราภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ 36% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในบรรดา 14 ประเทศที่ทรัมป์กล่าวถึง
มาเลเซียซึ่งอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากเดิมที่เคยขู่ไว้ที่ 24% ระบุว่าจะยังคงหารือกับสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อหาทางออกในประเด็นที่ค้างคา
ขณะที่นอกเอเชีย ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับอัตราภาษี 30% โดยระบุว่า “ไม่ได้สะท้อนข้อมูลการค้าที่มีอยู่จริงอย่างถูกต้อง” และจะเดินหน้าทางการทูตต่อไป
อย่างไรก็ตาม เดบอราห์ เอล์มส์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการค้าจากสถาบันวิจัย Hinrich Foundation ให้มุมมองว่า ความพยายามในการเจรจาของแต่ละประเทศดูเหมือนจะ ‘แทบไม่ส่งผล’ ต่อผลลัพธ์ที่ออกมา
“สมาชิกอาเซียนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อจัดทำข้อเสนอกลับได้รับการปฏิบัติแทบไม่ต่างจากประเทศที่ไม่ได้เดินทางไปวอชิงตันเลย” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าทรัมป์อาจยังคงพุ่งเป้ามาที่ชาติเอเชียจาก “ความกังวลเรื่องห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับจีน”
ภาพ: Ben Hasty / MediaNews Group / Reading Eagle via Getty Images
อ้างอิง: