×

ประมวลความขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ กับทฤษฎีเกมลบ

19.08.2019
  • LOADING...
ความขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

HIGHLIGHTS

  • ปมขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์เป็นชนวนให้เกิดสงครามการค้าที่มีแนวโน้มขยายตัว หากปล่อยไปเช่นนี้ ทั้งสองประเทศจะสูญเสียทั้งคู่ตามทฤษฎีเกมลบ (Negative Sum Game) 
  • ผู้นำทั้งสองประเทศตระหนักดีและจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว เพียงแต่ต้องรอเงื่อนเวลาที่เหมาะสม เพราะต้องคำนึงถึงแรงกดดันจากภาคประชาชนที่ต่างยังขุ่นเคืองจากความบาดหมางในอดีต และไม่ต้องการจบลงด้วยการเป็นผู้แพ้ฝ่ายเดียวตามทฤษฎีเกมศูนย์ (Zero Sum Game)

ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จนกลายเป็นสงครามการค้านั้นมีผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลสูงของเกาหลีใต้ให้บริษัทญี่ปุ่น 2 แห่งต้องจ่ายค่าชดเชยจากการที่ญี่ปุ่นเคยบังคับใช้แรงงานเกาหลีประดุจทาส และมีการบังคับฝืนใจทางเพศในช่วงที่ญี่ปุ่นครอบครองเกาหลีในลักษณะประเทศอาณานิคมระหว่างปี 1910-1945 โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ ซึ่งยึดอุดมการณ์ชาตินิยมมีความไม่พอใจมาก เพราะถือว่าญี่ปุ่นได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่เกาหลีใต้เรียบร้อยแล้วตามข้อตกลงที่ทำขึ้นในปี 1965 จึงไม่ควรมาเรียกร้องอะไรอีก ส่วน มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก็อ้างว่าการตัดสินของศาลสูงดังกล่าวไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตย มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 

 

แม้ข้อตกลงปี 1965 เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นสิทธิการเรียกร้องของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมที่คนญี่ปุ่นทำกับคนเกาหลีได้ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงขอให้ใช้แนวทางการทูตในการแก้ไขปัญหาหรือตั้งอนุญาโตตุลาการแทน

 

ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอให้บริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายแทน ซึ่งยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้น

 

รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้นายกฯ อาเบะจึงได้ตอบโต้ด้วยการออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเคมีและสินค้าไฮเทคอื่นๆ ที่บริษัทเกาหลีใต้ เช่น Samsung ต้องใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งกลายเป็นชนวนสู่ศึกสงครามการค้าระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านที่ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้

 

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ตัดเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อการเป็นประเทศหุ้น ส่วนทางการค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษ (Preferential Trading Partner) และมีการควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมี 3 ประเภทที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในการผลิตชิปและจอภาพ ซึ่งบริษัทเกาหลีใต้ขายไปยังตลาดทั่วโลก รวมทั้งลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple ที่นำไปผลิต iPhone ด้วย

 

ต่อมาเกาหลีใต้ได้ตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวกันคือตัดญี่ปุ่นออกจากรายชื่อประเทศหุ้นส่วนที่มีสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trading Partner) ซึ่งเพิ่มความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างกันมากขึ้น

 

อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น ในแง่ลึกๆ ก็คือผลจากประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นได้แผ่อิทธิพลจนถึงการเข้าครอบครองเกาหลีเป็นอาณานิคม และมีพฤติกรรมละเมิดคนเกาหลีรุนแรงจนเกิดเป็นความรู้สึกเจ็บแค้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยต่างก็เผชิญกับภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือ แม้ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพยายามไกล่เกลี่ย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น 

 

อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อหรือขยายตัวรุนแรงขึ้น ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็จะเป็นผู้สูญเสียทั้งคู่ตามทฤษฎีเกมลบ (Negative Sum Game)

 

เมื่อตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จึงได้ใช้ช่วงโอกาสวันครบรอบ 74 ปีของการยอมแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวสุนทรพจน์เชิญชวนให้ญี่ปุ่นหันมาจับมือและร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อความก้าวหน้าและเสถียรภาพร่วมกัน

 

ถึงแม้ผู้นำญี่ปุ่นจะยังไม่ได้แสดงท่าทีตอบสนอง แต่ที่พอจะวิเคราะห์ได้ก็คือภายใต้บริบทของภัยคุกคามต่อทั้งสองประเทศ ผู้นำทั้งสองหนีไม่พ้นความจำเป็นในการลดความขัดแย้งและความตึงเครียดลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Negative Sum Game หรือบาดเจ็บทั้งคู่

 

เพียงแต่ต้องอาศัยเงื่อนเวลาเหมาะสมโดยคำนึงถึงแรงกดดันจากภาคประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ยังไม่พอใจ และต้องการการดำเนินการอย่างแข็งกร้าวเพื่อไม่ให้จบลงด้วยการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้ตามทฤษฎีเกมศูนย์ (Zero Sum Game) นั่นเอง

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising