×

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเลแล้ววันนี้ นักวิชาการชี้ไม่กระทบปลาไทย ยังกินได้ปกติ

24.08.2023
  • LOADING...
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วันนี้ (24 สิงหาคม) ญี่ปุ่นได้เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลจากกลุ่มประมงที่หวั่นเกรงว่าลูกค้าจะไม่กล้ากลับมาซื้อปลาในท้องถิ่นจนกระทบต่อธุรกิจ รวมถึงเสียงตำหนิจากจีนที่มองว่าญี่ปุ่นนั้น ‘เห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบ’ 

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วง 2 ปีก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนดำเนินการในการปล่อยน้ำเสียลงมหาสมุทร ก่อนที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA จะไฟเขียวแผนดังกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยต้องเท้าความเช่นนี้ก่อนว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ญี่ปุ่นเผชิญกับแผ่นดินไหวแมกนิจูด 9.1 ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเกิดความเสียหาย และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวโรงไฟฟ้ายังคงผลิตน้ำเสียออกมาถึงวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้มาจากน้ำบาดาลและน้ำทะเลที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ก่อนจะผ่านการกรองและเก็บไว้ในแทงก์น้ำ ซึ่งปริมาณความจุที่สะสมมาตั้งแต่เกิดภัยพิบัติใกล้จะเต็มแล้ว และคาดว่าจะถึงขีดจำกัดที่ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงต้นปี 2024 จนทางการต้องตัดสินใจปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเล ซึ่งได้ผ่านระบบบำบัดจนขจัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นทริเทียม (Tritium)

 

บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประกาศว่า การปล่อยน้ำเริ่มต้นในเวลาประมาณ 13.03 น. ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น และไม่พบความผิดปกติใดๆ กับปั๊มน้ำทะเลหรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลให้ชาวประมงในญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน สำนักข่าว Reuters ได้ลงพื้นที่สอบถามกลุ่มผู้ค้าปลาในฟุกุชิมะ โดยเจ้าของร้านปลาคนหนึ่งกล่าวว่า เขารู้สึกวิตกกังวลและไม่เคยเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้พวกเขาต้องใช้เวลานานมากกว่าที่ลูกค้าจะมั่นใจและกล้ากลับมาซื้อปลาในท้องถิ่น หลังเกิดเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งการที่รัฐบาลตัดสินใจปล่อยน้ำเสียลงทะเล อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลซ้ำรอยอดีต

 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนก็ได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์อย่างดุเดือด โดยกล่าวว่า “ญี่ปุ่นไม่ควรสร้างความเสียหายทางอ้อมให้กับคนในท้องถิ่นและผู้คนอื่นๆ บนโลก ด้วยการตักตวงผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว” นอกจากนี้จีนยังระบุด้วยว่า จะดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนสุขภาพของประชาชน และจะเพิ่มการติดตามระดับรังสีในน่านน้ำของตนเอง

 

สำหรับความวิตกกังวลของหลายๆ คนที่สงสัยว่า การปล่อยน้ำเสียครั้งนี้จะกระทบถึงสัตว์น้ำของไทยหรือไม่ เรายังสามารถกินอาหารทะเลได้อย่างสบายใจหรือเปล่า ข้อนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าคนไทยยังสามารถกินอาหารทะเลของบ้านเราได้เหมือนเดิม

 

“ทะเลบ้านเราห่างจากฟุกุชิมะ 5,000 กม. วัดเป็นเส้นตรง ซึ่งจริงวัดลัดเลาะชายฝั่งจะไกลกว่านั้นมาก หากสารมีอันตราย กว่าจะมาถึงเราต้องผ่านหลายต่อหลายประเทศ ทะเลไทยอยู่ไกลสุดกู่

 

“นอกจากนี้ กระแสน้ำ kuroshio ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา หากคิดถึงการสะสมระยะยาวในดินตะกอน สัตว์น้ำ ฯลฯ เราก็ยังอยู่ไกลมาก ทั้งหมดนี้เพื่อไม่ให้เพื่อนธรณ์เป็นกังวลกับการกินอาหารจากทะเลไทย เรายังกินต่อไปได้และควรกิน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ดร.ธรณ์ระบุ

 

ภาพ: Photo by Philip FONG / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X