ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่เข้าลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ข้อมูลจาก BMO Capital Markets ล่าสุด แสดงให้เห็นถึงแรงขายพันธบัตรสหรัฐฯ ออกมามากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แรงขายดังกล่าวของญี่ปุ่นอาจจะถือเป็นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการถือครองอยู่สูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
แรงขายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากนโยบายด้านการเงินที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่ค่าเงินเยนก็ได้อ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนในการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้ความน่าสนใจจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหมดไปเช่นกัน โดยเฉพาะกับพันธบัตรระยะยาว
Ben Jeffery นักกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ BMO กล่าวว่า แรงขายที่เกิดขึ้นค่อนข้างมีนัยสำคัญ และคล้ายกับที่เราเคยเห็นเมื่อต้นปี 2017
ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีท่าทีแข็งกร้าวที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ และอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.5% ในเดือนนี้ แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงติดอยู่กับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แนวทางที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง และทำให้เรายังเห็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังถูกล็อกอยู่ที่ 0.25%
นอกจากนี้แรงขายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นไปเป็น 2.94% ในวันนี้ (2 พฤษภาคม) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่เข้าซื้อประกันความเสี่ยงจากความผันผวนสำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เยน-ดอลลาร์ จะได้รับผลตอบแทนหดตัวลงไปเหลือเพียง 1.3% เพราะต้นทุนในการทำประกันความเสี่ยงนั้นสูงถึง 1.55% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานับแต่ต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการเงินดอลลาร์สูงขึ้นอย่างมาก
Tatsuya Higuchi หัวหน้าผู้จัดการกองทุนของ Mitsubishi UFJ Kokusai Asset Management กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การลงทุนในยุโรปดีกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนการทำประกันความเสี่ยงที่ต่ำกว่า โดยพันธบัตรของสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ดูน่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ขณะที่ George Goncalves หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคของ MUFG กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นน่าจะอดทนรอจนกระทั่งเริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มนิ่ง หากอัตราดอกเบี้ยอายุ 10 ปี แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวในกรอบที่ชัดเจนในเดือนนี้ นั่นอาจดึงดูดนักลงทุนเข้ามาซื้อมากขึ้น