รายงานจากสำนักงานคณะรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น เช้าวันนี้ (16 พฤศจิกายน) ระบุว่า เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากที่ตกต่ำอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19
โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศญี่ปุ่นขยายตัว 5% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า และขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวของ GDP รอบนี้เป็นการฟื้นตัวที่เร็วที่สุด
ด้านนักเศรษฐศาสตร์เผยว่า ตามการสำรวจของบริษัทในเครือ Nikkei QUICK ประเมินว่า GDP ประเทศญี่ปุ่นจะขยายตัวประมาณ 4.2% ต่อไตรมาส และขยายตัว 18% ต่อปี
ขณะที่ นาโอยะ โอชิคุโบะ นักเศรษศาสตร์อาวุโสของ Sumitomo Mitsui Trust ที่ให้ความคิดเห็นว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน กิจกรรมทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นกลับคืนสู่สถานะปกติ เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกภาวะฉุกเฉินในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นนั้นไม่สามารถชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งประเทศและเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินในระดับชาติเพื่อพยายามควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา
การฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดไว้เป็นความท้าทายต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ซึ่งรับช่วงต่อจาก ชินโซ อาเบะ ในฐานะผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลพยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการควบคุมโคโรนาไวรัส การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม และปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดระลอก 3
เศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่การขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จากนั้นก็ต้องเผชิญกับสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในช่วงต้นปีนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตภายใต้ระบบ Abenomics ซึ่งเป็นโครงการทางเศรษฐกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีคนก่อนที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปีหยุดชะงักลง
ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะหดตัว 5.3% ในปีนี้ และฟื้นตัวขึ้น 2.3% ในปี 2564 ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักอื่นๆ ก็ฟื้นตัวขึ้นมาในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เช่น สหรัฐอเมริกาพบว่า GDP เพิ่มขึ้น 7.4% หลังจากที่หดตัว 9.1% ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: