การซื้อตั๋วคอนเสิร์ตแล้วมาขายต่อเพื่อเก็งกำไร กำลังเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะเข้ามาจัดการ โดยเล็งออกกฎให้ใช้ ‘บัตรประชาชน’ ในการซื้อตั๋วและยืนยันตัวตนก่อนเข้าดูคอนเสิร์ต นั่นแปลว่าหากชื่อไม่ตรงกันก็อดดูทันที
บัตรเก็งกำไรเป็นสิ่งที่ผู้จัดหลายรายในแดนซามูไรกังวล ก่อนหน้านี้ในปี 2016 Arashi ประกาศว่าจะติดตั้งเทคโนโลยีสแกนใบหน้าที่คอนเสิร์ตเพื่อป้องกันการขายบัตรต่อ หลังจากที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกจับในข้อหานำบัตรไปขายต่อและทำกำไรได้กว่า 10 ล้านเยน
ในปีเดียวกันนั้นเอง Tenbai No ที่แปลว่า ไม่ขายต่อ ได้ลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นสองฉบับคือ Asahi และ Yomiuri โดยระบุว่า “เราต่อต้านการขายตั๋วในราคาสูง ซึ่งทำให้ดนตรีหมดอนาคต” ซึ่งมีงานแสดงดนตรี 116 รายการ และองค์กรดนตรี 4 แห่ง ที่เห็นด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐมนตรีดิจิทัลญี่ปุ่น ประกาศ ‘สงคราม’ กับ ‘แผ่นดิสก์’ หวังโละเทคโนโลยีที่ล้าสมัยออกจากระบบราชการ
- ไขคำตอบ ทำไม ‘บัตรคอนเสิร์ต’ ถึงราคาพุ่งสูงปรี๊ด! ต้นตอมาจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่?
- ชาวเยอรมันที่มีอายุครบ 18 ปีในปี 2023 จะได้รับบัตรที่มีเงิน 7,400 บาทสำหรับซื้อตั๋วคอนเสิร์ต แผ่นเสียง และอื่นๆ เพื่อสัมผัส ‘วัฒนธรรมที่มีชีวิต’
จุดนี้เองทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังและกำลังพิจารณากำหนดให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนซึ่งติดตั้งชิป IC กับสมาร์ทโฟนของผู้ซื้อก่อนที่จะทำการซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตและการแข่งขันกีฬา โดยจะเป็นการยืนยันว่าผู้ที่มาร่วมงานเป็นคนเดียวกับที่ซื้อบัตร
ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลกำลังดำเนินการทดลองเพื่อดูว่าการใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการซื้อตั๋วจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งคาดหวังให้สามารถเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันบัตรคอนเสิร์ตจำนวนมากถูกซื้อทางออนไลน์และสามารถรับบัตรจริงได้ที่ร้านสะดวกซื้อ
หน่วยงานรัฐยืนยันว่า ข้อดีของระบบนี้คือการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นและการยืนยันตัวตนจะช่วยลดการเก็งกำไร แต่กระนั้นมีชาวญี่ปุ่นเพียง 60% เท่านั้นที่ลงทะเบียนสำหรับการใช้บัตรประชาชนรูปแบบใหม่
หลายคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ และการรับตั๋วกีฬาหรือคอนเสิร์ตที่ง่ายขึ้นหากคุณมีบัตรประชาชนรูปแบบใหม่ถูกมองว่าเป็นกลอุบายเพื่อกดดันให้ประชาชนทั่วไปมาสมัคร เพื่อทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 100% ตามเป้าหมายของรัฐ
และบางส่วนยังมองว่าวิธีนี้จะเป็นการกีดกันนักท่องเที่ยวไม่ให้สามารถเข้าถึงการดูคอนเสิร์ต กีฬา รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ด้วย
อ้างอิง: