×

สภาล่างญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายส่งเสริมความเข้าใจชุมชน LGBTQIA+

14.06.2023
  • LOADING...
LGBTQIA+ ญี่ปุ่น

วานนี้ (13 มิถุนายน) สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางเพศ แม้ก่อนหน้านี้นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมจะวิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้อาจสร้างความแตกแยกทางสังคม เปิดช่องทางให้บริษัทและรายบุคคลฟ้องร้องกันอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม

 

หลังจากที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการร่างกฎหมายมานานหลายเดือน สมาชิกสภาก็ลงมติเห็นพ้องในร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งคัดค้าน ‘การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ โดยมีการเพิ่มคำว่า ‘อย่างไม่เป็นธรรม’ ลงในร่างกฎหมาย ก่อนที่จะส่งต่อไปยังสภาสูง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติและบัญญัติเป็นกฎหมายของประเทศในขั้นตอนต่อไป

 

การผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาพร้อมกับการพิจารณาทบทวนการคุ้มครองสิทธิของชาว LGBTQIA+ ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม G7 ที่ยังไม่ยอมรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน

 

ในฐานะเจ้าภาพการประชุม G7 รัฐบาลญี่ปุ่นถูกกดดันจากตัวแทนหลายประเทศในกลุ่มพันธมิตร ให้ออกกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

ราห์ม เอ็มมานูเอล (Rahm Emanuel) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำญี่ปุ่น ได้กล่าวชื่นชมสภาล่างของญี่ปุ่นสำหรับการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้นำที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของชาว LGBTQIA+ ในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมผ่าน Twitter ว่า “เสียงเรียกร้องของประชาชนต่อสิทธิความเท่าเทียมดังชัดเจน และสภาผู้แทนราษฎรก็รับฟังและดำเนินการเรียบร้อยแล้ว”

 

แม้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ แต่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศหลายคนกลับรู้สึกผิดหวัง เพราะมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวใช้ภาษาและถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นกลุ่ม Japan Alliance for LGBT Legislation ที่มองว่าสภาหักหลังผู้ที่ตั้งใจรอการออกกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA+ มาอย่างยาวนาน พร้อมประณามร่างกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นการ ‘แสดงความเป็นห่วง’ ต่อผู้เลือกปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+

 

ทั้งนี้ หากมาดูผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน ขณะที่บริษัทและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง รวมถึงโตเกียว ได้แสดงความพร้อมในการอำนวยสิทธิประโยชน์สำหรับคู่รักเพศเดียวให้เท่าเทียมกับคู่สมรสทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ของญี่ปุ่น ระบุไว้ว่าการแต่งงานต้อง ‘ได้รับความยินยอมร่วมกันของทั้งสองเพศ’ ซึ่งขัดกับข้อกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียม ฉะนั้นแล้ว การผ่านร่างกฎหมายครั้งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของความห่างไกลระหว่างกฎหมายและความคิดเห็นของประชาชน

 

แฟ้มภาพ: Arthur Matsuo Via Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X