รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องภาคธุรกิจและองค์กรเอกชนใน 14 ภาคอุตสาหกรรมที่ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าและทางรถไฟ ให้หลีกเลี่ยงการซื้ออุปกรณ์สื่อสารที่เสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลและการล่มของระบบ นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ที่ต้องการยกระดับความมั่นคงและป้องกันความเสี่ยงจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei และ ZTE ที่กำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ของโลก
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ออกหนังสือคู่มือการจัดซื้อสำหรับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล โดยครอบคลุมอุปกรณ์ 9 ชนิด ซึ่งรวมถึงระบบเซิร์ฟเวอร์ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2019 เป็นต้นไป ซัพพลายเออร์ที่ถูกคัดเลือกจากการประกวดราคาเป็นหลัก จะถูกพิจารณาในเรื่องความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศด้วย
สำหรับภาคเอกชน รัฐบาลขอความร่วมมือจากบริษัทและองค์กรต่างๆ ให้ระงับการจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และบริการของจีนถูกดึงออกจากระบบเครือข่ายของภาคธุรกิจในญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ข้อมูลลับทางทหารของพวกเขาถูกจารกรรมผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Huawei ด้วยเหตุนี้จึงได้จำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์จีนในหน่วยงานภาครัฐตามรัฐบัญญัติด้านกลาโหมแห่งชาติสำหรับปีงบประมาณ 2019 ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้น โดยอิงจากรายงานข่าวกรองของรัฐบาลสหรัฐฯ
สำนักข่าว Nikkei ระบุว่า บริษัทเอกชนที่บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ต่างตกอยู่ในความเสี่ยงหากถูกโจมตี เพราะแฮกเกอร์สามารถหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการปิดระบบสาธารณูปโภค เพื่อหยุดการจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือทำให้ระบบเครือข่ายขนส่งมวลชนขัดข้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
สำหรับแนวทางการป้องกันนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานในเดือนมกราคม ซึ่งจะขึ้นตรงต่อสำนักงานยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์ ภายใต้การนำของ โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการชุดนี้จะชี้แจงถึงแนวทางการรับมือความเสี่ยงต่างๆ ต่อคณะผู้แทนจากองค์กร เช่น สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่น สมาคมการประปาญี่ปุ่น ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเงินและภาคประกันภัยของประเทศ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: