×

ในยุคที่ AI กำลังผงาด กลับกลายเป็นตัวฉุดรั้งให้ญี่ปุ่นต้องไล่ตามประเทศมหาอำนาจอื่น

07.07.2023
  • LOADING...
AI

Generative AI กลายเป็นประเด็นด้านเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งจุดประกายโดย ChatGPT ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังแข่งกันพัฒนา AI ของตนเอง แต่เทคโนโลยีขั้นสูงของญี่ปุ่นนั้นล้าหลังไปแล้วเมื่อต้องเปรียบเทียบกับ AI

 

กุญแจสำคัญในการพัฒนา AI คือโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่รองรับโปรแกรมอย่าง ChatGPT และ ERNIE Bot ของ Baidu อีกทั้งยังสามารถประมวลผลชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างข้อความและเนื้อหาอื่นๆ

 

โนริยูกิ โคจิมะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Kotoba Technology บริษัทสตาร์ทอัพด้านโมเดลภาษาขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นกล่าวว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงตามหลังสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ในการพัฒนาอัลกอริทึมเหล่านี้

 

การบูมของ AI เห็นได้ชัดในประเทศจีน องค์กรต่างๆ รวมถึงยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Alibaba และ Tencent ได้เปิดตัว LLM อย่างน้อย 79 โมเดล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างผลการวิจัยจากกลุ่มสถาบันที่ดำเนินการโดยทางการจีน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น OpenAI, Microsoft, Google และ Meta เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้าน LLM ของโลก

 

แรงงานและฮาร์ดแวร์ที่ขาดแคลน ทำให้ญี่ปุ่นก้าวตามประเทศอื่น

 

โคจิมะเผยว่า ในด้าน AI ญี่ปุ่นยังเป็นรองประเทศอื่น เพราะข้อบกพร่องเชิงเปรียบเทียบในด้านการเรียนรู้เชิงลึกและการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กว้างขวางกว่า ซึ่งการเรียนรู้เชิงลึกต้องการ ‘ชุมชนวิศวกรซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่ง’ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันที่จำเป็น

 

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นบอกว่า ญี่ปุ่นจะเผชิญกับการขาดดุลวิศวกรซอฟต์แวร์ 789,000 คน ภายในปี 2030 ปัจจุบันประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 28 จาก 63 ประเทศทั่วโลกในด้านความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลโลกโดย IMD

 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเผชิญกับความท้าทายด้านฮาร์ดแวร์ เนื่องจาก LLM จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมโดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI เช่น Vela ของ IBM และ Azure ของ Microsoft แต่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทเอกชนใดในญี่ปุ่นที่ครอบครองเครื่องจักรระดับโลกที่มีความสามารถเทียบเท่า มีเพียงซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ‘Fugaku’ ที่ควบคุมโดยรัฐบาลที่ถือกุญแจสำคัญในการแสวงหา LLM ของญี่ปุ่น

 

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Fugaku คือความหวังเดียวในการพัฒนา AI ของญี่ปุ่น

 

สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวและมหาวิทยาลัยโทโฮคุ วางแผนใช้ Fugaku เพื่อพัฒนา LLM ที่อิงจากข้อมูลของญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยร่วมมือกับ Fujitsu และ Riken ผู้พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Fujitsu ด้านองค์กรต่างๆ วางแผนที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยภายในปี 2024 เพื่อช่วยนักวิจัยและวิศวกรชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ พัฒนา LLM ไปอีกขั้น

 

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะลงทุน 6.8 พันล้านเยน (48.2 ล้านดอลลาร์) เพื่อสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ในฮอกไกโด ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้บริการในต้นปีหน้า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะเชี่ยวชาญในการฝึกอบรม LLM เพื่อส่งเสริมการพัฒนา AI ของญี่ปุ่น

 

ในเดือนเมษายน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศว่าญี่ปุ่นสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรม คำพูดของคิชิดะเกิดขึ้นหลังจากการประชุมระหว่างเขากับ Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ซึ่งกล่าวว่าบริษัทกำลังมองหาการเปิดสำนักงานใหม่ที่ญี่ปุ่น

 

บริษัทญี่ปุ่นกำลังไล่ตาม AI อย่างหนัก

 

เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้หารือกันเพื่อหวังยกระดับสถานะของญี่ปุ่นในด้าน AI เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทมือถือของ SoftBank มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์ม AI เป็นของตัวเอง โดยการประกาศของซีอีโอ SoftBank อย่าง มาซาโยชิ ซัน ที่บริษัทปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนจาก ‘เชิงรับ’ เป็น ‘เชิงรุก’ และเน้นไปที่ AI มากขึ้น

 

ตามรายงานของ Nikkei Asia พบว่า SoftBank Group ได้ขายหุ้น SB Energy 85% ให้กับ Toyota เมื่อเดือนเมษายน และเพิ่งตกลงที่จะขายหุ้น Fortress Investment ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดการด้านการลงทุนของสหรัฐฯ ถึง 90% การปรับลดการลงทุนเหล่านี้ช่วยให้ SoftBank มีเงินสดมากขึ้น ทำให้สามารถมุ่งเน้นไปที่ AI เป็นส่วนใหญ่ผ่านหน่วยลงทุน Vision Fund ของบริษัท

 

Arm บริษัทออกแบบชิปที่ SoftBank เป็นเจ้าของเตรียมดำเนินการจดทะเบียน IPO ในสหรัฐฯ ภายในปีนี้ Amir Anvarzadeh นักยุทธศาสตร์ตลาดตราสารทุนของญี่ปุ่นจาก Asymmetric Advisors กล่าวว่า Arm จะเป็นหนึ่งในการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก

 

เดิมที Arm ตั้งเป้าระดมทุนประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ด้วยความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์ในทั่วโลกที่ล้นหลาม Anvarzadeh แนะนำว่า Arm สามารถระดมทุนได้มากถึง 5-6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 85% ของมูลค่าตลาด SoftBank

 

NTT บริษัทโทรคมนาคมของญี่ปุ่นได้ประกาศแผนพัฒนา LLM ของตนเองในปีงบประมาณนี้ โดยมุ่งเน้นการบริการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสำหรับองค์กรต่างๆ NTT กล่าวว่าจะนำเงิน 8 ล้านล้านเยน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไปลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ฐานข้อมูลและ AI ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% จากระดับการลงทุนก่อนหน้านี้

 

โคจิมะเชื่อว่าแม้พัฒนาการด้าน AI ของญี่ปุ่นจะยังเป็นรองหลายประเทศ แต่ญี่ปุ่นก็เดินหน้าก้าวแรกด้วยความพยายามของภาคเอกชน เมื่อมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ความท้าทายทางเทคนิคจะลดลงอย่างมาก เมื่อใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สและข้อมูลจากผู้บุกเบิกคนก่อน Bloom, Falcon และ RedPajama เป็น LLM แบบโอเพ่นซอร์สทั้งหมดที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สามารถดาวน์โหลดและศึกษาได้

 

แต่โคจิมะก็ได้เตือนว่า บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาแข่งขันในสาขานี้ควรคาดการณ์ถึงการแข่งขันซึ่งกินเวลาค่อนข้างนาน การพัฒนา LLM ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และจำเป็นที่จะต้องมีพนักงานทักษะสูงในการประมวลผลภาษาธรรมชาติและการประมวลผลประสิทธิภาพสูง

 

การเติบโตที่ต้องมาพร้อมกับกฎระเบียบด้าน AI

 

ผลสำรวจโดย Teikoku Databank พบว่า 60% ของบริษัทในญี่ปุ่นมีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ AI ในการดำเนินงาน ขณะที่ 9.1% กำลังพิจารณาอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการพัฒนา AI นั้นสอดคล้องกับทัศนคติเชิงบวกของการนำ AI ไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ เช่นกัน

 

ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในภาครัฐบาล เช่น ChatGPT โดยมีเงื่อนไขว่าปัญหาด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวต้องได้รับการแก้ไขแล้ว

 

ฮิโรกิ ฮาบุกะ ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดรับการใช้ AI มากขึ้น รัฐบาลควรกำหนดและอำนวยความสะดวกในข้อกำหนดการใช้งาน ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่ง AI ถือเป็นความเสี่ยงเฉพาะ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X