×

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ตอนที่ 2: จักรวรรดิญี่ปุ่น เจ็บแล้วจำ จำแล้วทำตาม

23.09.2019
  • LOADING...
ความขัดแย้งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ปี 1876 คาบสมุทรเกาหลีที่สงบสุขมานานภายใต้การปกครองราชวงศ์โชซอน ซึ่งดำเนินนโยบายผูกสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนที่กำลังอ่อนแอ ได้กลายเป็นเป้าหมายการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ต้องการทำตามแบบอย่างตะวันตก จนนำไปสู่การบีบให้เกาหลีลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
  • ความพยายามสร้างความมั่งคั่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นผ่านแนวคิดพาณิชย์นิยม ทำให้ญี่ปุ่นสร้างกองเรือพาณิชย์ควบคู่กับเรือปืน เพื่อบังคับการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกและส่งออกสินค้าให้กับอาณานิคมอย่างเกาหลี 
  • ความไม่ไว้ใจชาติตะวันตกกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาในเวลาต่อมา จนนำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิง และการบังคับแรงงานทาสและหญิงบำเรอ ซึ่งสร้างความเจ็บแค้นให้กับคนเกาหลีจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ในตอนที่ 1 มาจบลงตรงที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีต่างก็เข้าสู่ยุคแห่งความสงบสุข ปิดประเทศ ไม่ทำสงครามภายนอก และไม่คบค้าสมาคมกับภายนอก แต่ทั้งสองก็ยังคงฝากร่องรอยแห่งความแค้นเอาไว้ในเพลงกล่อมเด็กของตน (ก่อนอ่านบทความตอนที่ 2 นี้แนะนำให้อ่าน ส่องประวัติศาสตร์จากยุค ‘เมจิ’ สู่ ‘เรวะ’ ในวันที่ญี่ปุ่นผลัดแผ่นดิน และ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ตอนที่ 1: เพลงกล่อมเด็ก 

 

ปี 1600 โทกุงาวะ อิเอยาสุ สถาปนาระบบโชกุน (Sei-i Taishogun 征夷大将軍) ขึ้นมาภายหลังจากการรบชนะสงครามเซกิงาฮาระ (Battle of Sekigahara 関ヶ原の戦い) ซึ่งนับเป็นมหาสงครามที่ทำให้เกิดการรวบรวมก๊กเหล่าต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของโชกุนได้สำเร็จ 

 

ระบบโชกุนเปรียบได้กับระบบฟิวดัล หรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ในยุคกลางของทวีปยุโรป ที่จะมีไดเมียว (เจ้าเมือง, Daimyo 大名) หลายตระกูลทำหน้าที่เป็นเจ้าผู้ครองที่ดินและทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่เป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรและแบ่งปันผลผลิตให้กับไดเมียว รวมทั้งเป็นกองกำลังของไดเมียวที่ทั้งหมดต้องนำทั้งกองกำลังและผลผลิตต่างๆ มาสนับสนุนโชกุนที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจ เริ่มต้นยุคสมัยที่ถูกเรียกขานกันในนามเอโดะ ในขณะที่จักรพรรดิก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการปกครองที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการและครองราชย์อยู่เกียวโต โดยระบบโชกุนเป็นระบอบในการปกครองญี่ปุ่นอยู่ถึงกว่า 268 ปี (1600-1868)

 

หลังจากการปกครองในระบอบโชกุนอย่างยาวนานต่อเนื่อง ประเทศญี่ปุ่นที่สงบ ปราศจากสงครามจากนโยบายปิดประเทศ ไม่ติดต่อกับต่างชาติตามนโยบายซาโกกุ (Sakoku 鎖国) โดยอนุญาตให้ทำการค้าได้เฉพาะกับพ่อค้าชาวจีนและชาวฮอลันดา (Dutch East India Company, Vereenigde Oostindische Compagnie หรือ VOC) ได้เพียงที่เมืองท่านางาซากิเท่านั้น ซามูไรที่ไม่ได้สู้รบ มีเกียรติยศ แต่ปราศจากความมั่งคั่ง ก็เริ่มต้นสร้างสายสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานกับลูกสาวของพ่อค้า ซึ่งแน่นอนว่ามั่งคั่ง แต่ไร้เกียรติ

 

ตระกูลพ่อค้าเหล่านี้กลายเป็นฐานกำลังสำคัญที่ไม่ได้สนับสนุนโชกุนที่ปิดประเทศอีกต่อไป หากแต่กลุ่มการค้าที่มั่งคั่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า ไซบัตสึ (Zaibatsu 財閥) ต้องการผู้นำคนใหม่ที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปิดประเทศ เกิดการปฏิรูป และนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มิใช่ความแข็งแกร่งของกองทัพอีกต่อไป

 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือกองเรือ Black Ship ซึ่งนำโดย กัปตันแมทธิว เพอร์รี แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ยกกองกำลังเข้ามากดดัน แม้จะมีกำลังพลไม่มาก แต่อาวุธที่ทันสมัยกว่าและเหล่าซามูไรที่ว่างเว้นจากการทำศึกก็ทำให้โชกุนต้องยอมเปิดการค้ากับต่างประเทศ และลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในนาม Convention of Kanagawa 1854 (日米和親条約)

 

ความขัดแย้งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น

 

ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับประเทศในเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ที่ต้องลงนามในสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอย่าง ‘สนธิสัญญานานกิง’ (Treaty of Nanking 南京条约) ภายหลังพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1839-1842 

 

สิ่งที่เหมือนกันคือทั้งญี่ปุ่นและจีนต้องเปิดเมืองท่า ยกเลิกระบบการค้าผูกขาด สูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (ต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลจีน/ศาลญี่ปุ่น หากแต่ขึ้นศาลกงสุลของประเทศแม่ของตนเอง สิทธินี้รวมถึงคนในปกครองใต้อาณานิคมของจักรวรรดิด้วย) และเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาติตะวันตกจำนวนมากเข้ามาใช้กำลังบังคับให้ทั้งสองประเทศจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมเหล่านี้ฉบับแล้วฉบับเล่ากับมหาอำนาจตะวันตก

 

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นคือ จีนเข้าสู่ ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู’ (Century of Humiliation / 百年国耻) ไปจนถึงปี 1949 ในขณะที่ญี่ปุ่นถือโอกาสนี้ในการสร้างขบวนการชาตินิยมต่อต้านตะวันตกที่มองว่าเป็นความผิดของระบบโชกุนในฐานะผู้บัญชาการทหารที่ไม่สามารถต่อต้านภัยรุกรานได้ และนำไปสู่การรื้อฟื้นอำนาจกับจักรพรรดิ ปฏิรูปประเทศ และในที่สุดก็เลียนแบบชาติตะวันตกจนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นผู้จุดชนวนสงครามมหาเอเชียบูรพาในที่สุด

 

ปี 1862 กลุ่มซามูไรสังหารพ่อค้าอังกฤษ ชาร์ลส์ เลนนอกซ์ ริชาร์ดสัน ส่งผลให้อังกฤษส่งเรือรบเข้ามาขอเจรจาค่าเสียหาย แน่นอนว่าโชกุนไม่ยอมจ่าย ไม่ยอมเจรจา และนั่นทำให้เรือรบอังกฤษเข้าถล่มเกาะคาโกชิมะ (Kagoshima / 鹿児島) จนในที่สุดโชกุนต้องยอมจ่ายค่าเสียหาย

 

ปี 1863 กองเรือผสมนานาชาติรุมถล่มชิโมโนเซกิ (Shimonoseki) หรือ Kanmon Straits 関門海峡 ช่องแคบที่อยู่ระหว่างเกาะฮอนชู (Honshu / 本州) กับคิวชู (Kyushu / 九州) สร้างความอัปยศให้กับญี่ปุ่นอีกรอบ นั่นทำให้ขุนนางสองตระกูลอย่างซาสึมะ (Satsuma) และโชวู (Choshu) / 薩摩長州同盟 รวมพลังกันเพื่อล้มระบบโชกุนเพื่อล้างอายและหวังที่จะสถาปนาระบบใหม่ภายใต้การนำของพระจักรพรรดิ

 

9 กันยายน 1867 โชกุนโทกุกาวา โยชิโนบุ (Tokugawa Yoshinobu / 徳川 慶喜) ยอมลงจากตำแหน่ง แต่อีกไม่นานจักรพรรดิโคเมอิ (Komei / 孝明天皇) เองก็สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน สุญญากาศแห่งอำนาจเกิดขึ้น นั่นทำให้เจ้าชายมัตสึฮิโตะ (Mutsuhito / 睦仁) เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 4 มกราคม 1868 ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยการค้ำจุนบัลลังก์ของขุนนางตระกูลซาสึมะและโชวู ซึ่งแน่นอนว่าอดีตโชกุนโยชิโนบุซึ่งยังมีลูกน้องและอิทธิพลมหาศาลไม่ยอมรับ และเริ่มต้นการเรียกร้องอำนาจคืนในวันที่ 17 มกราคม 1868

 

เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน 24 มกราคม 1868 โยชิโนบุรวบรวมกองกำลังและเตรียมบุกเข้ายึดพระราชวังของพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต โดยหารู้ไม่ว่ากองกำลังซาสึมะและโชวูกำลังเตรียมการตลบหลังเข้าไปเผาทำลายปราสาทเอโดะ (ตั้งอยู่ที่เมืองเอโดะ ซึ่งปัจจุบันคือกรุงโตเกียว) และนั่นทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง สงครามครั้งนี้เรียกว่า Boshin Senso (戊辰戦争)

 

โยชิโนบุไม่สามารถต่อสู้กับกองกำลังของพระจักรพรรดิได้ (อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าซามูไรของโชกุนเองไม่ได้ทำการรบต่อเนื่องยาวนาน นานเสียจนผันตัวเป็นพ่อค้า) อดีตโชกุนต้องถอยร่นขึ้นไปอาศัยอยู่ในฐานที่มั่นสุดท้ายที่เกาะเอโสะ (Ezo) เกาะใหญ่ทางเหนือสุดของประเทศที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามฮอกไกโด (Hokkaido)

 

แต่ในที่สุดสงครามก็สิ้นสุดลง เมื่อโยชิโนบุพ่ายแพ้และเสียเมืองฮาโกดาเตะ (Hakodate) ในเดือนพฤษภาคม 1869 การรวมอำนาจของพระจักรพรรดิได้อย่างสมบูรณ์นี้นำไปสู่ภาวะสงบสุข และเริ่มต้นการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration / 明治維新)

 

หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปเมจิคือการส่งคณะทูตของประเทศญี่ปุ่นในนาม Iwakura Mission (岩倉使節団) ซึ่งนำคณะโดยเอกอัครราชทูตอิวากุระ โทโมมิ (Iwakura Tomomi / 岩倉 具視) และทีมอีก 3 คน อันได้แก่ โอกุโบ โทชิมิชิ (Okubo Toshimichi), คิโด ทาคาโยชิ (Kido Takayoshi) และอิโตะ ฮิโรโบมิ (Ito Hirobumi) ออกไปสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปในปี 1871 

 

โดยเป้าหมายของการส่งคณะทูตออกไปในครั้งนี้ก็เพื่อขอแก้ไข และถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดที่ญี่ปุ่นถูกรุมกินโต๊ะไปตั้งแต่ปี 1854 ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางของคณะทูตในครั้งนี้คือญี่ปุ่นได้เปิดหูเปิดตาและเรียนรู้แล้วว่าโลกตะวันตกในยุคที่มหาอำนาจต่างก็กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการค้าแบบพาณิชย์นิยม และดำเนินนโยบายความมั่นคงแบบนักล่าอาณานิคมนั้นมันเป็นอย่างไร

 

ญี่ปุ่นเริ่มต้นรูปแบบการปกครองใหม่ที่นำแนวคิดมาจากตะวันตกมาปรับใช้ นั่นคือสมเด็จพระจักรพรรดิได้แต่งตั้งสภาขุนนาง และมีการเลือกตัวแทนจากประชาชนเข้ามาเป็นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าคนของกลุ่มไซบัตสึ ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลก็เข้ามาเป็นตัวแทนร่วมกันในการสนับสนุนการปกครองในระบอบใหม่นี้

 

การยกเลิกระบอบศักดินาโชกุนและไดเมียวทำให้เกิดการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน เกษตรกรเริ่มมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และพัฒนาที่ดินรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตของตนเพื่อแข่งกันสะสมความมั่งคั่ง (ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ทำให้ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนประเทศยุโรปที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก) และในขณะเดียวกันการยกเลิกระบบศักดินาโดยการที่รัฐบาลยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้กับไดเมียวตระกูลต่างๆ ก็ทำให้อดีตเจ้าเมืองเหล่านี้มีเงินก้อนสำหรับไปลงทุนสร้างธุรกิจ กลายเป็นไซบัตสึ (Zaibatsu) พ่อค้าตระกูลต่างๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนการปกครองของจักรพรรดิเมจิก็ทำให้ญี่ปุ่นเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญ 

 

โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าจำนวนมากเกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการคมนาคม ถนน ท่าเรือ รถไฟ การไปรษณีย์ การธนาคาร รัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นผู้เล่นเองในอุตสาหกรรมพื้นฐาน จากจุดเริ่มต้นของยุคเมจิในปี 1868 พอเข้าสู่ทศวรรษที่ 1890 ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนสถานะจากประเทศเกษตรกรรมล้าหลังและด้อยพัฒนากลายเป็นประเทศที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงสุดในทวีปเอเชีย 

 

ในด้านการเงินการธนาคาร ญี่ปุ่นเริ่มประกาศใช้เงินเยนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1871 ภายใต้กฎหมาย New Currency Act of 1871 และกำหนดให้เงิน 1 เยนมีค่ามาตรฐานเทียบเท่ากับโลหะเงินหนัก 24.26 กรัม และเทียบเท่ากับทองคำน้ำหนัก 1.5 กรัม ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Kabushiki Torihikijo 東京株式取引所) เปิดทำการซื้อขายมาตั้งแต่ปี 1878 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan 日本銀行) ถูกก่อตั้งในปี 1882 เพื่อเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลนโยบายทางการเงินและระบบมาตรฐานการชำระเงินของประเทศ

 

ญี่ปุ่นในยุคเมจิส่งนักเรียนทุนรัฐบาลจำนวนมากออกไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และนิสิตนักศึกษาเหล่านี้เองที่เดินทางกลับมาพร้อมกับการนำเอาประสบการณ์การพัฒนาประเทศตะวันตกมาใช้ในญี่ปุ่น 

 

นักคิดนักเขียนคนสำคัญที่งานเขียนของเขากลายเป็นเสมือนคัมภีร์ของการสร้างจักรวรรดิญี่ปุ่นคือ ฟุกุซาวะ ยูคิชิ (Fukuzawa Yukichi / 福澤 諭吉) บุรุษผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคอิโอะ (Keio / 慶應義塾大学) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศ หน้าตาของเขาปรากฏอยู่บนธนบัตร 10,000 เยนของประเทศญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ งานเขียนที่ทรงอิทธิพลของยูคิชิ เช่น Conditions in the West, Leaving Asia และ An Outline of a Theory of Civilization

 

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงต้นของจักรวรรดิก็มีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์ยุโรปที่เริ่มต้นด้วยการปฏิวัติศาสนาก่อนที่จะไปสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โดยปี 1871 ญี่ปุ่นประกาศให้มีความชอบธรรมในการนับถือศาสนา ดังนั้นศาสนาชินโตที่ครอบงำความคิดของญี่ปุ่นมานานเริ่มลดบทบาทลง (ก่อนที่จะกลับมาเป็นแนวทางหลักอีกครั้งในช่วงของลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง) คนญี่ปุ่นเริ่มมีโอกาสเรียนรู้แนวคิดของโลกตะวันตกเพิ่มมากยิ่งขึ้นผ่านการเผยแพร่ศาสนา และเมื่อแนวคิดล่าอาณานิคมกำลังพุ่งขึ้นสูงในโลกตะวันตก ญี่ปุ่นที่ต้องการขยายอิทธิพลของตนเองตามแบบอย่างของตะวันตกหลังเคยพ่ายแพ้และต้องการจะเอาคืน เรดาร์ของญี่ปุ่นจึงส่ายไปเจอคาบสมุทรเกาหลี

 

ปี 1876 คาบสมุทรเกาหลีที่สงบสุขมานานภายใต้การปกครองราชวงศ์โชซอน (Joseon 대조선국) กษัตริย์ลำดับที่ 26 โคจง (Gojong / 고종) หรือภายหลังเสด็จสวรรคตถูกขนานนามว่าจักรพรรดิกวางมู (Gwangmu / 광무제) ที่ดำเนินนโยบายโดยการผูกสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนซึ่งก็กำลังอ่อนแอ กลายเป็นเป้าหมายการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่น 

Korea Calls boycott of Japan goods

ในปีนั้นญี่ปุ่นบังคับให้เกาหลีต้องลงนามในสนธิสัญญาเกาะกวางฮวา (Treaty of Ganghwa Island (강화도 조약), Japan-Korea Treaty of Amity (日朝修好条規)) สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวก็มีแนวคิดและเนื้อหาไม่แตกต่างจาก Convention of Kanagawa 1854 (日米和親条約) สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ญี่ปุ่นต้องยอมลงนามกับสหรัฐอเมริกา นั่นคือญี่ปุ่นต้องการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ไม่ได้ขึ้นกับจีน ให้เกาหลีเลิกระบบการค้าบรรณาการ หรือการจิ้มก้อง (Suzerainty) กับราชวงศ์ชิง ญี่ปุ่นบังคับให้เกาหลีเปิดประเทศ ทำการค้ากับญี่ปุ่น และบังคับเอาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากเกาหลี

 

การสร้างจักรวรรดิญี่ปุ่นดำเนินต่อไป โดยในปี 1889 ญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมจิ (Constitution of the Empire of Japan / 大日本帝國憲法) ให้พระจักรพรรดิมีอำนาจเต็มเหนืออธิปไตยของประเทศและดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกองทัพ สภา Imperial Diet (帝国議会) ก่อตั้งในปี 1890 โดยตัวแทนของกลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล (Zaibatsu) ส่งตัวแทนเข้ามากำหนดนโยบายทั้งในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) และสภาขุนนาง (House of Peer) นักธุรกิจเหล่านี้เริ่มต้นกำหนดนโยบายการค้าแบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ตามแบบอย่างตะวันตก

 

ภายใต้แนวคิดแบบพาณิชย์นิยม ญี่ปุ่นและโลกตะวันตกในขณะนั้นเชื่อว่าทองคำคือสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง และความมั่งคั่งจากทองคำก็นำไปสู่ความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะทองคำสามารถนำไปใช้ในการสร้างกองทัพได้ ประเทศจะร่ำรวยมั่งคั่งได้ต้องมีดุลการค้าเกินดุล ทั้งนี้เพราะถ้าประเทศเกินดุลการค้าก็จะมีทองคำไหลเข้าประเทศ เพราะในขณะนั้นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศและการปริวรรตเงินตราต่างก็ใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) โดยใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการชำระราคาระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศเกินดุลการค้า 

 

รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือเอกชนของประเทศตนในการทำการค้ากับประเทศอื่นๆ โดยรัฐต้องพยายามหามาตรการและนโยบายเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจของตนเองเพื่อให้มีความได้เปรียบด้านการค้า มาตรการที่ใช้ เช่น กีดกันการนำเข้าผ่านการตั้งกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันต่างๆ ในการนำเข้าสินค้าบริโภค แต่สนับสนุนให้นำเข้าวัตถุดิบราคาต่ำที่สุดเพื่อมาผลิต และแน่นอนวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำที่สุดก็มาจากการบังคับเอาจากอาณานิคม 

 

ในทางตรงกันข้าม รัฐต้องความช่วยเหลือผู้ส่งออกให้มากที่สุดเพื่อขายได้ราคาสูงและเกินดุล เพื่อให้ทองคำไหลเข้าประเทศ และการขายที่ได้ราคาดีที่สุดก็คือการบังคับขายกับอาณานิคม ดังนั้นนโยบายที่ดีที่สุดคือการตั้งกองเรือพาณิชย์ควบคู่กับเรือปืนเพื่อเจรจาต่อรองแกมบังคับขู่เข็ญโดยใช้อำนาจทางการทหารเป็นเครื่องช่วยต่อรอง

 

ญี่ปุ่นเริ่มต้นนโยบายเรือปืนเช่นเดียวกับมหาอำนาจในโลกตะวันตกในปี 1894 และเป้าหมายสำคัญของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็คือ เกาหลี ไต้หวัน และแมนจูเรีย 

 

สำหรับฝ่ายเกาหลี เหตุการณ์ช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นภายในรัชสมัยของกษัตริย์โคจง (Gojong 고종) ซึ่งก็นับเป็นคราวเคราะห์ของราชวงศ์โชซอนอย่างยิ่งที่กษัตริย์พระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ 

 

พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จากการคัดเลือก เนื่องจากจักรพรรดิพระองค์ก่อนหน้านามว่า ช็อลจง (Cheoljong / 철종) เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาทในปี 1863 โคจงในวัยเด็กขึ้นครองราชย์โดยมีพระบิดา ฮึงซอน แดวอนกุน (Heungseon Daewongun / 흥선대원군) เป็นผู้สำเร็จราชการ และเมื่อโคจงเจริญเติบโตพอที่จะขึ้นบริหารกิจการบ้านเมืองได้เองในปี 1873 หน้าที่กุมบังเหียนกิจการบ้านเมืองก็ถูกถ่ายโอนไปให้พระราชินี ซึ่งทุกคนรู้จักกันในนาม จักรพรรดินีมยองซอง (Empress Myeongseong 명성황후) หรือราชินีมิน และอย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้คือปี 1876 เกาหลีก็ถูกบีบให้ลงนามสนธิสัญญากวางฮวากับประเทศญี่ปุ่น

 

ปี 1894 เกาหลีเผชิญหน้ากับสถานการณ์กบฏชาวนาดองฮัก (Donghak / 동학 농민 혁명) ซึ่งไม่พอใจราชวงศ์โชซอน กษัตริย์โคจงและราชินีมินที่อ่อนแอบริหารบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้พวกเขาอดอยากแสนสาหัส เหตุการณ์ภายในประเทศเกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดโคจงและราชินีมินเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากจีน และราชวงศ์ชิงก็ส่งกองทัพจำนวน 2,800 นายเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1894 

 

ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่จ้องหาโอกาสรอเวลาและมองว่าคาบสมุทรเกาหลีคือเขตอิทธิพลของตนจึงใช้ข้ออ้างตามสนธิสัญญากวางฮวา ส่งกองทัพญี่ปุ่นจำนวน 8,000 นายข้ามช่องแคบขึ้นคาบสมุทรเกาหลีในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน และสามารถยึดพระราชวังคยองบก (Gyeongbokgung 경복궁) พร้อมจับตัวกษัตริย์โคจงได้วันที่ 25 มิถุนายน 1894 พร้อมทั้งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดและใช้กองทหารขับไล่กองทัพของราชวงศ์ชิงออกจากคาบสมุทรเกาหลี และนั่นทำให้สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (The First Sino-Japanese War หรือ War of Jiawu 甲午戰爭 ในภาษาจีน; Japan–Qing War 日清戦争 ในภาษาญี่ปุ่น; Qing–Japan War 청일전쟁 ในภาษาเกาหลี) ปะทุขึ้น

 

สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (1894-1895) จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพแห่งราชวงศ์ชิง จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Shimonoseki / 下関条約 ในญี่ปุ่น และถูกเรียกว่า Treaty of Bakan 馬關條約 ในจีน) จีนต้องยอมเสียอำนาจอธิปไตยเหนือคาบสมุทรเกาหลี (Joseon) คาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong Peninsula / 辽东半岛) และเกาะฟอโมซา ปัจจุบันคือไต้หวัน (Formosa / 福尔摩沙) ให้กับญี่ปุ่น และต้องยอมเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นโลหะเงินน้ำหนัก 7.5 ล้านกิโลกรัม อีกทั้งต้องยอมเปิดเมืองซูโจว, หางโจว, ฉงชิ่ง (จุงกิง) และหูเป่ย (จิงโจว) ให้กับญี่ปุ่น 

 

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่จักรวรรดิญี่ปุ่นทำแทบจะไม่ต่างจากสิ่งที่เป็นแนวปฏิบัติของลัทธิพาณิชย์นิยม และลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกแต่อย่างใด

 

ความขัดแย้งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น

 

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ยังคงไม่ได้มีสิทธิอย่างเด็ดขาดเหนือคาบสมุทรเกาหลี รัสเซียภายใต้การนำของ ซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1894 และต้องการขยายอิทธิพลข้ามทุ่งน้ำแข็งไซบีเรียมายังเอเชียตะวันออก ก็ได้ร่วมสร้างพันธมิตรกับฝรั่งเศสและเยอรมนีเพื่อเปลี่ยนแปลงให้สิทธิเหนือพื้นที่คาบสมุทรเหลียวตง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองท่าสำคัญ Port Arthur ซึ่งควรจะเป็นเขตปกครองของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มกรุ่นๆ ในการที่จะต้องเปิดศึกกับรัสเซียเสียแล้ว และอีกคนที่เริ่มกรุ่นๆ ว่านี่คือการต่อรองงัดข้อระหว่างมหาอำนาจรอบบ้าน  และมองว่าการไปเข้าร่วมกับรัสเซียน่าจะทำให้สามารถใช้รัสเซียในการต่อต้านญี่ปุ่นได้ก็คือราชินีมินแห่งกษัตริย์โคจงนั่นเอง

 

แต่ความพยายามของราชินีมินล้มเหลว พร้อมกับการลอบสังหารโดยมือสังหารจากญี่ปุ่น ภายใต้เหตุการณ์ Eulmi Incident (을미사변) ในวันที่ 8 ตุลาคม 1895 ที่บริเวณส่วนในด้านหลังของพระราชวังคยองบกในส่วนที่เรียกว่า Geoncheonggung (건청궁) 

 

แน่นอนว่าการสิ้นพระชนม์ของราชินีมิน นำมาซึ่งโอกาสให้กษัตริย์โคจงซึ่งอยู่ภายใต้การบงการของคนอื่นๆ มาตลอดทั้งชีวิต ต้องการปฏิรูปประเทศเพื่อรวบรวมอำนาจทั้งหมดมาไว้ที่ตนเอง และนั่นทำให้เกิดการปฏิรูปกวางมู (Gwangmu 광무개혁) และการสถาปนาจักรวรรดิเกาหลี (Korean Empire 대한제국) โดยโคจงมองเอาแบบอย่างจากการสถาปนาระบอบจักรพรรดิและการปฏิรูปเมจิของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถรวบเอาอำนาจทั้งหมดที่เคยอยู่กับขุนนางจำนวนมากมาไว้ที่จักรพรรดิได้สำเร็จ 

 

แต่สำหรับเกาหลี จักรวรรดิเกาหลีไม่ได้ประสบความสำเร็จเช่นนั้นเลย และระบอบใหม่นี้ก็มีอายุที่สั้นมากเพียงแค่ 2 รัชกาลคือ โคจง และพระโอรส นั่นคือกษัตริย์ซุนจง (Sunjong 순종 และได้รับการขนานนามว่า จักรพรรดิยุงฮุย (Emperor Yunghui / 융희제) โดยกินระยะเวลาเพียง 13 ปี ระหว่างปี 1897-1910 เท่านั้น

 

กลับมาที่จักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อเห็นการขยายอิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย นั่นก็ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งกองทัพของพระจักรพรรดิออกไปรบกับกองทัพของรัสเซีย รวมทั้งยังทำให้ญี่ปุ่นตระหนักรู้แล้วว่าตนเองไม่สามารถไว้ใจตะวันตกได้ ถึงแม้ว่าตะวันตกทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย จะเคยเป็นสหายร่วมสนามรบด้วยกันมาแล้วในคราวปราบปรามกบฏนักมวย (Boxer Rebellion / 拳亂 ระหว่างปี 1899-1901) ในคราวนั้นญี่ปุ่นร่วมมือกับพันธมิตรอีก 7 ชาติ อันได้แก่ อังกฤษ, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, อิตาลี และออสเตรีย-ฮังการี สู้รบกับกลุ่มจอมยุทธที่มีวิชากังฟูที่ออกมาต่อต้านต่างชาติโดยได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ชิง และความไม่ไว้ใจชาติตะวันตกนี้ที่จะกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาในอนาคต

 

สำหรับรัสเซีย สงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย (Russo-Japanese War / 日露戦争) เกิดขึ้นระหว่างปี 1904-1905 โดยสงครามครั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายกำชัยชนะ และสงครามยุติลงโดยประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย (จากเหตุการณ์นี้ทำให้รูสเวลต์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) 

 

โดยรัสเซียและญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัธ (Treaty of Portsmouth) ญี่ปุ่นได้ดินแดนส่วนใต้ (ต่ำกว่าเส้นละติจูดที่ 50 องศาเหนือ) ของเกาะซาฮาลิน (Sakhalin) เกาะใหญ่ที่อยู่ทางตอนเหนือของฮอกไกโด โดยญี่ปุ่นเข้าครอบครองและเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดคาราฟูโตะ (Karafuto Prefecture / 樺太庁) แน่นอนว่าถึงแม้สภาพอากาศและภูมิประเทศบนเกาะจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม แต่ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะก็ดึงดูดให้ญี่ปุ่นต้องการครอบครองพื้นที่นี้ 

 

และในภายหลังแรงงานทาสจำนวนมากที่ถูกบังคับไปใช้แรงงานจากจีนและเกาหลีก็ถูกนำไปทำงานอย่างหนักบนเกาะหิมะหนาวเหน็บแห่งนี้ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา นอกจากเกาะซาฮาลินแล้ว ญี่ปุ่นยังได้สิทธิขาดเหนือคาบสมุทรเกาหลีและคาบสมุทรเหลียวตงบนแผ่นดินที่ถูกเรียกว่าแมนจูเรีย (Manchuria / 满洲) อีกด้วย

 

เมื่อขจัดอิทธิพลของจีนและรัสเซียเหนือคาบสมุทรเกาหลีได้สำเร็จ กษัตริย์โคจงกับการปฏิรูปก็สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นบังคับให้เกาหลีต้องยอมลงนามในสนธิสัญญา Japan–Korea Treaty of 1905 (第二次日韓協約) หรือที่รู้จักกันนามสนธิสัญญาอึลซา (Eulsa / 을사조약) ในฝั่งเกาหลี โดยเนื้อหาสำคัญของสนธิสัญญาดังกล่าวก็คือเกาหลีต้องยอมตกเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่น 

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ญี่ปุ่นก็ดำเนินการลดขนาดกองทัพเกาหลีจาก 20,000 นายเหลือเพียง 1,000 นาย และกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองหลวงอย่างกรุงโซลก็ถูกควบคุมโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น นั่นเท่ากับแผนการฟื้นฟูจักรวรรดิเกาหลีและการปฏิรูปกวางมูของกษัตริย์โคจงก็ล่มสลายไปโดยปริยาย 

 

ความพยายามครั้งสุดท้ายของโคจงคือการส่งคณะทูตเดินทางไปประชุมสันติภาพ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Hague Peace Convention of 1907) เพื่อแถลงถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเกาหลีที่ถูกย่ำยี โดยญี่ปุ่นให้ประชาคมโลกตะวันตกได้รับรู้รับทราบเพื่อเรียกร้องให้มหาอำนาจร่วมกันกดดันให้ญี่ปุ่นยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้กับเกาหลี ซึ่งแน่นอนว่าไม่สำเร็จ ญี่ปุ่นกีดกันทุกช่องทางไม่ให้คณะทูตของเกาหลีได้เข้าแถลงในการประชุมดังกล่าว 

 

โดยคณะประกอบด้วย อีจุน (Yi Tjoune / 이준) ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการเดินทาง ส่วนอีกสองคนคือ อีซังโซล (Yi Sang-seol / 이상설) และอีวีจอง (Yi Wi-jong / 이위종) โดยทูตลับทั้งสามของเกาหลีทำได้เพียงมอบข้อมูลให้กับนักหนังสือพิมพ์ที่มาทำข่าวการประชุมเท่านั้น (แต่ในเกาหลีปัจจุบันมีการสร้างตำนานว่าการเสียชีวิตของอีจุนเกิดจากการฆ่าตัวตาย เพราะเขาไม่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จในการเข้าไปแถลงในที่ประชุม ทั้งนี้เนื่องจากความคับข้องใจที่เคียดแค้นญี่ปุ่น และเพื่อให้การตายของเขาสามารถครองพื้นที่ในการเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อบอกเล่าให้คนทั้งโลกได้รู้เรื่องของเกาหลี)

 

หลังจากเหตุการณ์ที่กรุงเฮก ญี่ปุ่นก็กดดันอย่างหนักจนในที่สุดกษัตริย์โคจงยอมสละราชสมบัติและมอบให้ซุนจงขึ้นรับตำแหน่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โชซอน และนั่นคือช่วง 3 ปีสุดท้ายก่อนที่เกาหลีจะถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว 

 

พฤษภาคม 1910 เทราอุชิ มาซาทาเกะ (Terauchi Masatake / 寺内 正毅) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการกองทัพ (Army Ministry 陸軍省) ซึ่งภายหลังได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 1916-1918) ก็ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการควบรวมคาบสมุทรเกาหลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น และเขาก็ทำสำเร็จในวันที่ 22 สิงหาคม 1910 เมื่อ อีวานยอง (Ye Wanyong / 이완용) นายกรัฐมนตรีเกาหลีที่เป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญา Japan–Korea Treaty of 1910 (日韓併合条約, 한일병합조약) ร่วมกับ เทราอุชิ มาซาทาเกะ ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งเกาหลี (Japanese Governor-General of Korea, Chosen Sotoku 朝鮮総督) คนแรก โดยคนญี่ปุ่นเรียกเกาหลีในเวลานั้นว่า โชเซน (Chosen 朝鮮) 

 

หลังจากนี้จักรวรรดิญี่ปุ่นจะเริ่มขยายตัวเข้าแผ่นดินใหญ่ของจีน ความวายป่วงทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิง การบังคับแรงงานทาส หญิงบำเรอ และสงครามมหาเอเชียบูรพา กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X