สถานการณ์ของค่าเงินเยนที่กลับมาอ่อนค่าจนหลุดจากระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง กำลังทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์กันว่ากระทรวงการคลังของญี่ปุ่นอาจจะมีการเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในเร็วๆ นี้
การเดินหน้าทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าจนหลุดจากระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายนของปีก่อน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าเราอาจได้เห็นการเข้าแทรกแซงค่าเงินของกระทรวงการคลังอีกครั้ง หากเงินเยนยังอ่อนค่าต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นใช้เงินราว 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าแทรกแซงค่าเงิน 3 ครั้งด้วยกัน โดยแบ่งเป็นในเดือนกันยายนหนึ่งครั้ง และในเดือนตุลาคมเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยน
Joey Chew หัวหน้าฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียของ HSBC กล่าวว่า โอกาสที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงค่าเงินในเวลานี้ยังมีค่อนข้างน้อยเมื่อพิจารณาจากการสื่อสารของ Shunichi Suzuki รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าว แม้ว่า Masato Kanda รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลพร้อมจะเข้าดูแลค่าเงินในกรณีจำเป็นก็ตาม
“เรายังไม่เห็นศัพท์ที่บ่งชี้ความจำเป็นในการแทรกแซง เช่น ‘Excessive’ หรือ มากเกินไป, ‘One-sided’ หรือ ขาเดียว และ ‘Ready to Act’ หรือ พร้อมที่จะลงมือ ออกมาจากการสื่อสารของกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น” Chew ระบุ
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าหากเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อไปจนเข้าสู่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ การเคลื่อนไหวของเงินเยนมีความผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจากปัจจุบันที่ 4-5% เพิ่มเป็น 6-8% โอกาสที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงค่าเงินจะมีสูงขึ้น
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ประเมินว่าในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินเยนจะยิ่งอ่อนค่ามากขึ้น เพราะการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษของ BOJ ซึ่งสวนทางกับ Fed จะยิ่งทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นถ่างกว้างมากขึ้น
อ้างอิง: