เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หดตัว 0.9% ในไตรมาสแรกของปี 2020 (มกราคม-มีนาคม) เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 (QoQ) โดยวิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นย่ำแย่ลง จากที่ GDP ติดลบอยู่แล้วในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การหดตัวดังกล่าวยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากโพล Refinitiv ที่คาดว่าจะติดลบ 1.2%
เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หดตัว 3.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส
ข้อมูลระบุว่า การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญและมีสัดส่วนเกินครึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หดตัว 0.7% ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลให้ร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศต้องปิดกิจการชั่วคราว
ญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงปลายปีที่แล้ว หลังรัฐบาลขึ้นภาษีการขาย บวกกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา
วิกฤตโควิด-19 กลายเป็นอีกหนึ่งมรสุมที่ถาโถมใส่เศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยนักวิเคราะห์เตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกยังไม่ใช่ผลกระทบทั้งหมดจากโรคระบาดครั้งนี้
“การหดตัวลงอย่างรุนแรงของ GDP ในไตรมาสแรก สะท้อนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่ามากกำลังจะตามมาในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก” ทอม เลียร์เมาธ์ นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นจาก Capital Economics ให้ความเห็น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: