อาจจะฟังดูแรงไปเสียหน่อย แต่ในญี่ปุ่นมีคำว่า ‘โรไกฉะอิง’ (老害社員) หรือบางครั้งก็เรียกให้สั้นว่า ‘โรไก’ ที่หมายถึง พนักงานสูงอายุ (ประมาณ 50 ปีขึ้นไป) ที่ไม่ทำอะไรเลย มีพฤติกรรมไม่น่าอภิรมย์ และเป็นภาระที่องค์กรไม่ควรต้องแบกรับเอาไว้ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจจากบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่สำรวจพนักงานบริษัททั่วไปจำนวน 300 คนว่าพวกเขาเคยเจอโรไกบ้างไหม และพบว่า 49.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าที่บริษัทของพวกเขามีโรไกอยู่
และ 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามล้วนมีความเห็นตรงกันว่าการเก็บโรไกเอาไว้นั้นมีแต่จะส่งผลเสียกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังใจในการทำงานของคนหนุ่มสาวที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของภาระหน้าที่ที่คนหนุ่มสาวต้องมารับแทน และคนอายุมากที่ไม่ทำอะไรเลยเหล่านี้ยังผลาญค่าแรงที่บริษัทต้องจ่ายอีกด้วย
เพราะในปัจจุบันที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องทำบริษัทเดิมไปจนกว่าจะเกษียณ ทำให้องค์กรในญี่ปุ่นเริ่มมีสัดส่วนพนักงานสูงอายุมากขึ้น แต่พนักงานสูงอายุในญี่ปุ่นไม่ได้รับความเคารพจากพนักงานหนุ่มสาวอีกต่อไปแล้ว เพราะวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปได้ไกลมากขึ้น การทำงานที่เริ่มยืดหยุ่นขึ้น และบริษัทสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างองค์การแบบแนวราบ ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบดั้งเดิมที่เป็นระบบอาวุโสจึงไม่ใช่สิ่งที่พนักงานหนุ่มสาวชอบใจเท่าไรนัก และพวกเขายังมองว่าระบบอาวุโสและโรไกเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกด้วย
หลังสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพนักงานบริษัทในช่วงอายุ 20-40 ปี จำนวนกว่า 2,000 คนถึงเรื่องของพนักงานสูงอายุในบริษัท พบว่าจำนวนพนักงานสูงอายุที่กลุ่มตัวอย่างรู้สึกว่า ‘น่าเคารพ’ นั้นมีน้อยกว่า 10% ของบริษัท หรือสรุปให้ง่ายก็คือ พวกเขาแทบไม่มีพนักงานสูงอายุคนไหนที่รู้สึกว่าน่าเคารพเลย
เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่าพนักงานสูงอายุเหล่านี้สำคัญอย่างไรต่อองค์กรที่กำลังทำงานอยู่ 55.6% ของกลุ่มตัวอย่างตอบว่า ‘ไม่ค่อยมีอะไรสำคัญนัก’ แต่ก็ยังมีคำตอบที่พอให้ใจชื้นได้บ้างอย่าง ‘พวกเขาสำคัญเพราะมีทักษะการทำงานสูง’ ที่ 19.9% หรือ ‘พวกเขาได้รับความเชื่อถือจากผู้บริหาร’ ที่ 6.3% หรือคำตอบอย่าง ‘พวกเขาไม่มีการล่วงละเมิดพนักงานคนอื่น’ ก็มีที่ 6.3%
“ทุกวันนี้พนักงานบริษัทที่อายุมากกว่า 50 ปีมักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มโรไก ด้วยความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวของพนักงานหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีใครชอบพวกเขา ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาก็เป็นพนักงานที่มีประสบการณ์สูง” โยเฮ สึเนะมิ ผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบการทำงานได้กล่าวถึงปัญหาที่กำลังแพร่หลายนี้
“แทนที่จะจัดกลุ่มว่าใครเป็นโรไกตามความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวของเรา การมีส่วนร่วมกับพนักงานสูงอายุนั้นก็เป็นโอกาสในการเติบโตได้” สึเนะมิกล่าวเสริม
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP