×

ญี่ปุ่นดึงกลยุทธ์ ‘Made in Japan’ ปั้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ปักธงเพิ่มยอดขายไมโครชิป 3 เท่าในปี 2030

04.04.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจญี่ปุ่น

กระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ระบุว่า ญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในญี่ปุ่นให้ได้ 3 เท่าภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าราว 15 ล้านล้านเยน โดยเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการกระตุ้นการผลิตไมโครชิปในประเทศตามห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพื่อดันให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง 

 

รายงานระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไมโครชิป โดยมองว่าไมโครชิปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และกำลังให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. และบริษัทอื่นๆ เพื่อสร้างโรงงานในญี่ปุ่นหรือขยายโรงงานที่มีอยู่ในญี่ปุ่นให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคทั่วโลกที่นับวันความต้องการนั้นก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นวางแผนที่จะวางเป้าหมายการขายไว้ในกลยุทธ์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัลของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการปรับปรุงภายในกลางปี

 

ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งในตลาดไมโครชิปทั่วโลกของญี่ปุ่นลดลงจาก 50% ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นประมาณ 10% เนื่องจากคู่แข่งมีประสิทธิภาพดีกว่าในแง่ของเงินทุนและความคล่องตัว เช่น Samsung Electronics Co. Ltd ของเกาหลีใต้

 

และในวันเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่แย่ลงในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 โดยความเชื่อมั่นดังกล่าวลดลงจากบวก 7 ในช่วงเดือนธันวาคม มาอยู่ที่เพียงบวก 1 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ 

 

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ลดลงยังสอดคล้องกับผลประกอบการรายไตรมาสที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020

 

กระนั้น ความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในส่วนที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 1 จุดเป็นบวก 20 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน

 

รายงานระบุว่า หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่อง พ่วงด้วยการขึ้นค่าแรงช้า แถมยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง แม้ว่าเศรษฐกิจบางส่วนของประเทศยังคงประสบกับภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นแนวโน้มตรงกันข้ามที่ราคาจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเติบโตทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างญี่ปุ่น อีกทั้ง ความวุ่นวายล่าสุดในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ กำลังเพิ่มอุปสรรคให้กับญี่ปุ่น ยังไม่นับรวมปัญหาด้านพลังงานที่แพงมากขึ้นในช่วงเวลาสงครามของรัสเซียในยูเครนส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงต้องนำเข้าน้ำมันเกือบทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจะช่วยเพิ่มมูลค่าของรายได้ในต่างประเทศของผู้ส่งออก เช่น Toyota และ Nintendo แต่ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นก็ท้าทายความสามารถในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทนั้นๆ ด้วย 

 

ในส่วนของการคาดการณ์ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น

 

รายงานระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจดำเนินการเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากหลายฝ่าย โดยขณะนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ศูนย์หรือในแดนลบเป็นเวลาหลายปี เพื่อดึงญี่ปุ่นออกจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.1% แต่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ที่ 2%

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังมีขึ้นในช่วงที่ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ของญี่ปุ่น คาซุโอะ อุเอดะ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 9 เมษายน โดยรับช่วงต่อจาก ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมานานร่วม 10 ปี ท่ามกลางความหวังว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่นี้จะสามารถนำพาญี่ปุ่นออกจาก ‘อาเบะโนมิกส์’ นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนที่สนับสนุนโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้อย่างมั่นคง 

 

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มรายได้ของประชาชนและจัดการกับอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศ ขณะเดียวกัน ผู้นำญี่ปุ่นรายนี้ยังพยายามที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ และเพื่อเริ่มต้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน

 

ที่ผ่านมา ความไม่แน่นอน เช่น สงครามในยูเครน การขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ ผลกระทบของการล็อกดาวน์และระบบปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ได้ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นที่ยังคงต้องรักษาการเติบโตด้านใหม่เพื่อให้ทันกับการแข่งขันระดับโลกอย่างมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising