ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการอ่อนค่าของเงินเยน ส่งผลให้ ญี่ปุ่น ชะลอแผนการปฏิรูปภาษีคาร์บอน เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ประชาชน แม้การตัดสินใจครั้งนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นพลาดเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ก็ตาม
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ญี่ปุ่นเตรียมพักแผนการปฏิรูปภาษีคาร์บอน ซึ่งเดิมคาดไว้ว่าจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2023 (ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2023) เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระให้กับบริษัทและผู้บริโภคที่ประสบปัญหาต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลและสมาชิกสภาจากพรรครัฐบาลก็กำลังมองหาช่องทางจัดหาเงินทุนอื่นๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่น เร่งฟื้นการท่องเที่ยว ตั้งเป้าดึงตัวเลขกลับแตะ 40 ล้านคนเท่าก่อนโควิดภายในปี 2025
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ที่รู้ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกำลังวางแผนออกพันธบัตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประมาณ 20 ล้านล้านเยน โดยรายได้ที่จะมาใช้ชำระหนี้หรือออกพันธบัตรดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นเคยวางแผนจะใช้โครงการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Program) ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม ตลาดซื้อขายคาร์บอน และการเก็บภาษีคาร์บอน
ด้าน ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า จะสรุปการหารือเกี่ยวกับพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมภายในสิ้นปีนี้ และรัฐบาลจะพยายามยื่นร่างกฎหมายที่จำเป็นในการออกพันธบัตรสีเขียวในการประชุมรัฐสภาภายในเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการหารือเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอนเมื่อเดือนตุลาคม ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้กล่าวถึงภาษีคาร์บอน โดยระบุว่า จะเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษและใช้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเสนอขายพันธบัตร
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เก็บภาษีโลกร้อนสำหรับปิโตรเลียมและถ่านหินอยู่แล้ว โดยการเปลี่ยนภาษีดังกล่าวนี้เป็นภาษีคาร์บอนจะเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการจัดสรรรายได้และการชี้แจงคำจำกัดความ
ญี่ปุ่นยังถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เรียกเก็บภาษีผู้ปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2012 โดยตั้งไว้ที่ 289 เยน (หรือราว 1.97 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตัน ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่า ระดับดังกล่าวต่ำเกินไปที่จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในการผลิตไฟฟ้าและพฤติกรรมของอุตสาหกรรมหลัก
อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นว่า การเพิ่มภาษีดังกล่าวจะเพิ่มภาระท่ามกลางราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่น เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียและการอ่อนค่าของเงินเยน
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยค่าธรรมเนียมสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่าภาษี แต่อาจทำให้เกิดความผันผวนได้มากกว่า
การพักแผนภาษีคาร์บอนอาจเป็นการลดแรงจูงใจสำหรับองค์กรในการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดสินใจครั้งนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากยุโรป ซึ่งกำลังแบกรับภาษีเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
อ้างอิง: