รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า สองประเทศกำลังศึกษาตั้งโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความขัดแย้งอันเกิดจากกรณีบังคับใช้แรงงานเกาหลีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในฐานะโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ยืนยันว่า รายงานข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือจัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่จริง ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธตามมาเช่นกัน
ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ The Japan Times ของญี่ปุ่น รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้เริ่มมองหาหนทางแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่บรรดาเหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงานทาสในช่วงสงครามระหว่างปี 1910-1945 ซึ่งเป็นช่วงที่คาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น
โดยหนึ่งในตัวเลือกที่รัฐบาลสองฝ่ายกำลังพิจารณาตามที่เป็นข่าวก็คือการตั้งกองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ด้วยการให้รัฐบาลและบริษัทเอกชนในเกาหลีใต้เป็นฝ่ายจัดตั้งกองทุน ขณะที่บริษัทอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่มีส่วนบังคับใช้แรงงานเกาหลีในช่วงสงคราม จะเป็นฝ่ายสนับสนุนเงินกองทุน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ได้ในชื่อของกองทุนเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เงินชดเชยแรงงานสงคราม
รายงานระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีแผนที่จะสนับสนุนเงินชดเชยใดๆ โดยข้อตกลงการตั้งกองทุนดังกล่าว จะอนุญาตให้บริษัทญี่ปุ่นมอบเงินชดเชยแก่ฝ่ายเกาหลีใต้ โดยที่ไม่ขัดแย้งต่อท่าทีของรัฐบาลที่ยืนยันมาตลอดว่า ประเด็นการจ่ายเงินชดเชยนั้นจบสิ้นไปแล้วอย่างสมบูรณ์ภายใต้ความตกลงทวิภาคีปี 1965 ซึ่งญี่ปุ่นเคยมอบเงินสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีใต้ไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามการค้าที่กระทบกระเทือนห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีทั่วโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากศาลพิพากษาสูงสุดของเกาหลีใต้ มีคำตัดสินเมื่อปีที่แล้วให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยสำหรับการบังคับใช้แรงงานช่วงสงคราม โดยให้เหตุผลว่า สิทธิของเหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงานภายใต้อาณานิคมยังไม่ถูกยกเลิกไปตามความตกลงทวิภาคี 1965 แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีบริษัทญี่ปุ่นปฏิบัติตามคำสั่งศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความตึงเครียดได้บรรเทาลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น และลี นักยอน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ได้หารือร่วมกันที่กรุงโตเกียว โดยที่สองฝ่ายเห็นพ้องให้เดินหน้าพูดคุย เพื่อคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: