เมื่อวานที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ภายในช่วงครึ่งปีหลังของศตวรรษที่ 21 เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นประเด็นระดับประชาคมโลก
โดยญี่ปุ่นจะหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ แม้จะยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปิดทำการอยู่ก็ตาม จุดนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมาย พร้อมระบุแผนการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในศตวรรษนี้
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในระดับที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้หลายฝ่ายจะยังกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2011
ญี่ปุ่นเตรียมเสนอแผนการดังกล่าวภายในที่ประชุม G20 ที่ตนเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่ญี่ปุ่นและอิตาลีเป็นเพียง 2 ประเทศในกลุ่ม G7 ที่ยังไม่เสนอแผนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในที่ประชุมใหญ่
โดยเป้าหมายระยะยาวขั้นแรก ญี่ปุ่นตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนราว 22-24% ใช้พลังงานนิวเคลียร์ 20-22% และใช้พลังงานฟอสซิล 56% ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศภายในปี 2030
ทางด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ระบุว่า “การกระทำดังกล่าวไม่ใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เราต้องเสียไป หากแต่เป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นในอนาคต เราจะเป็นอีกหนึ่งประเทศในฐานะผู้นำการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”
ภาพ: Chesnot / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.japantimes.co.jp/news/2019/06/11/national/japan-aims-reduce-greenhouse-emissions-zero-second-half-21st-century/#.XQBk2tMzb-Y
- www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20190611_27/
- english.kyodonews.net/news/2019/06/d8c2c52432d7-japan-aims-to-reduce-greenhouse-emissions-to-zero-after-2050.html