เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้ธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ ปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยระบุว่า สถาบันเหล่านี้ยังขาด ‘ชุดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ’ ในการจัดการความท้าทายระดับโลก
เยลเลนแสดงความเห็นระหว่างเข้าร่วมการเสวนาที่ Center for Global Development ว่า ธนาคารโลกและผู้ให้กู้จำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น การก้าวไปไกลกว่าการให้กู้ยืมตามประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจเน็ต เยลเลน ยืดอกยอมรับ คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด แต่เชื่อว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
- เจเน็ต เยลเลน เผยแผนกำหนดเพดาน ‘ราคาน้ำมันรัสเซีย’ ได้ผล หลังรัสเซียยอมลดราคาขายล็อตใหญ่ให้ ‘จีน-อินเดีย’
- เจเน็ต เยลเลน ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว พร้อมเชื่อว่ามีวิธีคุมเงินเฟ้อโดยที่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง
เยลเลนกล่าวว่า กลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งจากผลกระทบระดับโลกและจากนโยบายของประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่แตกต่างออกไปจากในอดีตในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดใหญ่ของโรคโควิด และภาวะความยากจน
ความเห็นของเยลเลนมีขึ้นก่อนที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันในกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในสัปดาห์หน้า
เยลเลนกล่าวอีกว่า ในการประชุมประจำปีที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนเองพร้อมด้วยผู้นำจากหลากหลายประเทศจะจับมือกันเรียกร้องให้ธนาคารโลกพัฒนาแผนงานปรับปรุงภายในเดือนธันวาคม
สำหรับการประชุมประจำปีครั้งใหญ่ของสองสถาบันการเงินชั้นนำของโลกในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความยากลำบาก แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมโรคโควิดได้บ้างแล้ว แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เป็นการคุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มต้น
ด้านโฆษกของธนาคารโลกกล่าวว่า ยินดีที่จะหารือเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินทุน และคำชี้แนะของเยลเลนที่ต้องการให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศปรับปรุงและพัฒนา ก่อนระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง ตลอดจนความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เงินทุนไหลออก และภาระหนี้ที่มีจำนวนมาก
เยลเลนเสนอแนวทางปรับปรุง
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างธนาคารโลก มีประวัติที่แข็งแกร่งในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการระดับชาติ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่มี ‘ชุดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ’ เพื่อจัดการกับความท้าทายระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกสามารถลดต้นทุนสำหรับการระดมทุนเพื่อการลงทุนที่เป็นประโยชน์สำหรับโลกได้ อย่างเช่น โครงการพลังงานสะอาด
ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากรูปแบบการให้กู้ยืมตามประเทศ (Country-based Lending) แบบดั้งเดิมแล้ว เยลเลนยังเรียกร้องให้พิจารณาทางเลือกที่ขยายออกไป เช่น การให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ สนับสนุนหน่วยงานทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค
โดยเยลเลนตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรระดับโลกอย่าง COVAX จะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้กับประเทศกำลังพัฒนา และบรรดาธนาคารเพื่อการพัฒนาก็ควรใช้เครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อระดมเงินทุนส่วนตัวมากขึ้นสำหรับโครงการของตนเองด้วย
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เยลเลนประกาศจัดสรรเงินใหม่เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ Clean Technology Fund ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนด้านสภาพอากาศ ทั้งยังเรียกร้องให้เจ้าหนี้ทวิภาคีรายใหญ่ ‘มีส่วนร่วมในการบรรเทาหนี้อย่างมีความหมาย’ เพื่อช่วยประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ได้เลื่อนเวลาการพักชำระหนี้แก่ผู้กู้ที่ประสบปัญหา
อ้างอิง: