×

รวมผลงานภาพถ่ายแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

โดย Mr.Vop
13.07.2022
  • LOADING...
James Webb Space Telescope

ในที่สุด หลังการรอคอยอย่างยาวนาน กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ – JWST (James Webb Space Telescope) ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการศึกษาดาราศาสตร์อินฟราเรดที่แพงที่สุดและทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยการเปิดแผยให้เราได้เห็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของอวกาศห้วงลึกที่ไกลและชัดเจนที่สุดยิ่งกว่าภาพจากกล้องโทรทรรศน์ใดๆ จะทำได้ โดยทางทีมงานของ NASA ได้แบ่งการเผยแพร่ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกซึ่งตรงกับเวลาเช้าวานนี้ (12 กรกฎาคม 2565 ตามเวลาในประเทศไทย) เป็นการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เพื่อเปิดเผยภาพแรกของชุดภาพทั้งหมด นั่นคือภาพสีแบบ Deep Field ที่คมชัดและมีรายละเอียดมากที่สุดของกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 ซึ่งอยู่ห่างออกจากโลกออกไปถึง 4.6 พันล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวโวลันใต้ (Volans) ด้วยพลังของกล้อง Near-Infrared Camera (NIRCam) ที่ถ่ายภาพนี้แยกออกเป็นส่วนย่อยตามความยาวคลื่นแสงที่แตกต่างกันตลอดระยะเวลา 12.5 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำส่วนย่อยที่ได้มาเข้าประกอบกันเป็นภาพเดียวอย่างแม่นยำจนได้ภาพแบบ Deep Field ที่แสดงให้เราได้เห็นปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงที่ทำให้กาลอวกาศรอบๆ มวลอันมหาศาลนั้นโค้งไปตามหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป จนแสงจากกาแล็กซีด้านหลังอันห่างไกลปรากฏให้เห็นเป็นเส้นยาวที่วนรอบส่วนที่ดูคล้ายจะนูนออกมาในภาพ) 

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “ภาพเหล่านี้ได้ย้ำเตือนโลกว่า สหรัฐฯ สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ และยังย้ำเตือนคนอเมริกันโดยเฉพาะลูกหลานของเราว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถของเรา เราสามารถเห็นความเป็นไปได้ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เราสามารถไปในที่ที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อนได้”

 

*พิกัดของกระจุกกาแลกซี SMACS 0723 อยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 7 ชั่วโมง 23 นาที 19.5 วินาที เดคลิเนชัน -73° 27′ 15.6″ เรดชิฟต์ 0.390

 

จากนั้นในช่วงค่ำ นั่นคือเวลา 21.30 น. (12 กรกฎาคม 2565 ตามเวลาในประเทศไทย) ทางทีมงานของ NASA ก็ได้จัดแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ภาพที่เหลืออีก 4 ภาพในชุดนี้ ซึ่งเราจะแสดงเรียงตามลำดับดังนี้

 

James Webb Space Telescope

 

ภาพของเนบิวลาใหญ่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ (The Great Carina Nebula) หรือ NGC 3372 เนบิวลานี้อยู่ห่างระหว่างประมาณ 6,500-10,000 ปีแสงจากโลก ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ เป็นหนึ่งในเนบิวลากระจายแสงที่ใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก ลักษณะที่ดูเหมือน ‘ภูเขา’ ที่ปกคลุมไปด้วยดวงดาวระยิบระยับนี้ แท้จริงแล้วเป็นขอบของบริเวณที่ก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ ‘ยอดเขา’ ที่สูงที่สุดในภาพนี้สูงประมาณ 7 ปีแสง กลุ่มของลวดลายลักษณะคล้ายหุบเขาคือกลุ่มฝุ่นและก๊าซที่กำลังรวมตัวกันเป็นก้อนมวลที่วิวัฒนาการต่อไปเป็นดาวฤกษ์หากมีแรงโน้มถ่วงมากเพียงพอ

 

*พิกัดของเนบิวลา NGC3372 อยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 10 ชั่วโมง 45 นาที 08.5 วินาที เดคลิเนชัน -59° 52′ 04″

 

James Webb Space Telescope

 

ภาพของกลุ่มกาแล็กซีสเตฟาน หรือ Stephan’s Quintet ในในกลุ่มดาวม้าบิน (กลุ่มดาวเพกาซัส) ชื่อของกลุ่มกาแล็กซีนี้ได้มาจาก Édouard Stephan ผู้ค้นพบกลุ่มกาแล็กซีนี้ในปี 1877 ลักษณะเป็นกลุ่มของกาแล็กซี 5 กาแล็กซีที่อยู่ใกล้กัน โดย 4 ใน 5 กาแล็กซีนี้มีปฏิสัมพันธ์กันทางกายภาพ และถูกเรียกรวมๆ กันว่า HCG 92 ความสัมพันธ์ของกลุ่มกาแล็กซีก่อขึ้นมาด้วยแรงและคลื่นกระแทกที่ทำให้พวกมันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้าหากันและหลอมรวมกันได้ในอนาคต แสงสว่างตรงใจกลางกาแล็กซีที่อยู่กลางด้านขวาคือแสงจากหลุมดำมวลยิ่งยวดในสภาวะตื่นตัวกำลังกลืนกินมวลสารอยู่ ทำให้มันส่องแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 หมื่นล้านเท่า

 

*พิกัดของ Stephan’s Quintet อยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 22 ชั่วโมง 35 นาที 57.5 วินาที เดคลิเนชัน +33° 57′ 36″

 

James Webb Space Telescope

 

ภาพของเนบิวลาวงแหวนซีกโลกใต้ (Southern Ring Nebula) NGC 3132 ซึ่งเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างใหญ่ถึงครึ่งปีแสง ก๊าซส่องสว่างรอบๆ คือเศษฝุ่นและก๊าซที่หลงเหลือจากการยุบตัวของดาวยักษ์แดงไปเป็นดาวแคระขาว ก๊าซเหล่านี้กำลังเคลื่อนห่างไปเรื่อยๆ จากดาวแคระขาวที่ใจกลางด้วยความเร็วถึง 14.5 กิโลเมตรต่อวินาที ภาพที่คมชัดเป็นพิเศษจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ทำให้มองเห็นกลุ่มฝุ่นและก๊าซแยกตัวเป็นชั้นตามคลื่นกระแทกที่ตามมาหลังยุบตัว ส่วนบริเวณที่เป็นสีฟ้าและน้ำเงินนั้นคือใจกลางที่ร้อนจัดของดาวฤกษ์ เนบิวลาที่อยู่ห่างโลกออกไป 2,000 ปีแสงนี้เคยถูกเรียกว่า Eight-Burst Nebula เนื่องจากลักษณะที่ดูคล้ายเลข 8 เมื่อส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศบางชนิด 

 

* พิกัดของ NGC 3132 อยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 10 ชั่วโมง 7 นาที 01.7640 วินาที เดคลิเนชัน -40° 26′ 11.060″

 

James Webb Space Telescope

 

นอกจากภาพถ่ายที่สุดแสนชัดเจนของกาแล็กซีรวมถึงเนบิวลาในห้วงลึกของจักรวาลแล้ว อุปกรณ์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ยังแสดงความสามารถอันน่าทึ่งในการวิเคราะห์แสงที่มาจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-96 b ระหว่างเกิดปรากฏการณ์ทรานซิต (Transit) ขณะที่ดาวเคราะห์ดวงนี้เคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์ของมันเองด้วย พบว่าดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีของเรา 1.63 เท่านี้มีไอน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ในชั้นบรรยากาศด้วย นั่นเป็นการยืนยันความสามารถอีกแบบของเจมส์ เว็บบ์ ที่จะใช้ในการสำรวจหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการก่อกำเนิดชีวิตต่างภพในอนาคต

 

*พิกัดของ WASP-96 b อยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 00 ชั่วโมง 4 นาที 11.1377 วินาที เดคลิเนชัน -47° 21′ 38.3208″

 

ภาพ: https://www.nasa.gov/webbfirstimages

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X