×

ย้อนดูผลงานกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ ครบ 1 ปี มีภาพน่าทึ่งอะไรบ้าง

13.07.2023
  • LOADING...
James Webb Space Telescope

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยภาพถ่ายจากคลื่นอินฟราเรดภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ในระหว่างการแถลงข่าว ณ ทำเนียบขาว โดยเป็นภาพจากห้วงอวกาศที่ลึกที่สุดและคมชัดมากที่สุดเท่าที่กล้องโทรทรรศน์เคยบันทึกมาได้ ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ และเป็นการเปิดตัวผลงานของเจมส์ เว็บบ์ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และสมกับค่าตัว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของมัน

 

นับจนถึงตอนนี้ กาลเวลาก็ได้เวียนมาบรรจบครบ 1 ปี (กับอีก 1 วัน) ที่เจมส์ เว็บบ์ ได้เผยความลับของจักรวาลให้มนุษย์ได้รับทราบ ในโอกาสนี้ THE STANDARD จึงอยากพาทุกคนย้อนกลับไปชมภาพเด็ดๆ จากกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้กันอีกครั้งว่าได้ทำผลงานอันน่าทึ่งใดมาแล้วบ้าง

 

 

ภาพที่หากไม่พูดถึงเลยก็คงจะผิดมากๆ นั่นคือภาพในตำนานอย่างภาพกระจุกดาราจักร SMACS 0723 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Webb’s First Deep Field เป็นภาพสีที่มีความคมชัดสูง ซึ่ง NASA เลือกปล่อยออกมาให้สาธารณชนได้ยลโฉมกันเป็นภาพแรก เผยให้เห็นสีสันอันงดงามของหมู่กาแล็กซีนับพันซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 4,600 ล้านปีแสง

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA and STScI

 

 

NASA และ ESA ได้เปิดเผยภาพถ่ายของดาวเสาร์ในย่านอินฟราเรดใกล้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของชั้นบรรยากาศดาว วงแหวน และดวงจันทร์บริวารบางดวง โดยภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ด้วยอุปกรณ์ NIRCam ที่ถ่ายภาพในย่านอินฟราเรดใกล้ช่วงคลื่น 3.23 ไมครอน ซึ่งจะเห็นว่าวงแหวนมีความสว่างกว่าตัวดาวเสาร์ เนื่องจากก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวได้ดูดซับแสงอาทิตย์ที่ส่องลงไป เมื่อเทียบกับฝุ่นก๊าซและน้ำแข็งในวงแหวนที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในย่านอินฟราเรด

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, M. Tiscareno (SETI Institute), M. Hedman (University of Idaho), M. El Moutamid (Cornell University), M. Showalter (SETI Institute), L. Fletcher (University of Leicester), H. Hammel (AURA), J. DePasquale (STScI) 

 

 

ภาพสุดแสนตระการตานี้คือภาพของพื้นที่ที่มีชื่อว่า NGC 3324 ในเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของดาวฤกษ์ อยู่ห่างออกไปราว 7,600 ปีแสง โดยเนบิวลากระดูกงูเรือเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่มีขนาดใหญ่และสว่างมากที่สุดบนฟากฟ้า ขนาดที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ นั้นดูงดงามและยิ่งใหญ่ราวกับหน้าผาที่ประดับประดาไปด้วยดวงดาวส่องระยิบระยับ

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA and STScI

 

 

 

นี่คือภาพของดาวพฤหัสบดีที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จากในอดีตเราจะคุ้นเคยกับภาพของดาวพฤหัสบดีที่นักวิทยาศาสตร์แปลผลด้วยสีโทนส้มอมเหลือง มาในวันนี้ จูดี ชมิดท์ นักวิทยาศาสตร์อาสาสมัครจากทางบ้าน ได้แปลผลภาพของดาวพฤหัสบดีที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ขึ้นใหม่ ด้วยสีฟ้า, ขาว, เขียว, เหลือง และส้ม จนออกมาเป็นภาพดวงดาวที่มีสีหลักคือน้ำเงิน น้ำตาล และครีม ขณะที่จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ซึ่งเป็นพายุหมุนขนาดยักษ์ และเป็นลักษณะเด่นที่สุดของดาวเคราะห์นี้ปรากฏเป็นสีขาว ส่วนแสงเหนือใต้ก็ปรากฏชัดเป็นวงรอบขั้วทั้งสองของดวงดาว

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, Jupiter ERS Team

 

 

ภาพ ‘เสาแห่งการก่อกำเนิด’ (Pillars of Creation) เวอร์ชันล่าสุดที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเผยให้เห็นรายละเอียดที่คมชัดมากกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อเทียบกับภาพแรกอันโด่งดังที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อปี 1995 โดยภาพเสาแห่งการก่อกำเนิดนี้ เป็นภาพกลุ่มก๊าซและกลุ่มฝุ่นขนาดมหึมาที่ลอยอยู่ระหว่างดวงดาวระยิบระยับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula) ที่อยู่ห่างจากโลกของเราออกไปราว 6,500 ปีแสง เป็นพื้นที่ก่อกำเนิดของดาวฤกษ์มากมาย โดยเสาที่เห็นในภาพนี้มีความสูงประมาณ 4-5 ปีแสง และด้วยรายละเอียดที่มีความคมชัดสูงนี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการก่อกำเนิดของดวงดาวในเนบิวลาได้

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA and STScI

 

 

ภาพของห้วงอวกาศที่ดูตื่นตาราวกับนาฬิกาทรายสีเพลิงนี้ เป็นภาพบริเวณของ ‘ดาวฤกษ์ก่อนเกิด’ หรือ Protostar ที่มีชื่อว่า L1527 ซึ่งถ่ายด้วยอุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

ใจกลางภาพที่ดูเหมือนกับส่วนคอขวดคือจุดก่อเกิดของดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่บนท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) โดยแสงที่ส่องออกมาจากตัว Protostar ทั้งด้านบนและล่างทำให้เห็นเป็นรูปทรงคล้ายกับนาฬิกาทราย บริเวณสีส้มจะเป็นบริเวณที่มีฝุ่นหนาแน่น ส่วนสีน้ำเงินเป็นบริเวณที่มีกลุ่มฝุ่นเบาบาง ทั้งนี้ L1527 อยู่ห่างออกไปจากโลกราว 430 ปีแสง และมีอายุเพียงประมาณ 100,000 ปีเท่านั้น นับเป็นเทหวัตถุในเอกภพที่มีอายุค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราซึ่งมีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, and STScI, J. DePasquale (STScI)

 

 

กาแล็กซีก้นหอยที่ใหญ่ที่สุดในภาพนี้มีชื่อว่า LEDA 2046648 โดยภาพนี้ถ่ายด้วยอุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ขณะที่กำลังสังเกตดาวแคระขาว WD1657+343 โดยภาพที่ปล่อยออกมาแสดงรายละเอียดอันสวยงามของตัวกาแล็กซี รวมถึงสามารถมองเห็นแขนเกลียวของกาแล็กซีก้นหอยได้อย่างชัดเจน แม้กาแล็กซีดังกล่าวจะอยู่ห่างไกลจากโลกและตัวกล้องเจมส์ เว็บบ์ มากกว่า 1,000 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส

 

ภาพ: ESA/Webb, NASA & CSA, A. Martel

 

 

ปิดท้ายกันด้วยภาพที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม โดย NASA และ ESA ได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพถ่ายของกลุ่มก๊าซกำเนิดดาวฤกษ์ ‘โร โอฟิวคี’ (Rho Ophiuchi) ที่อยู่ห่างจากระบบสุริยะไปประมาณ 390 ปีแสง ในโอกาสฉลองครบรอบ 1 ปี การปฏิบัติภารกิจสำรวจจักรวาลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

ในภาพถ่ายนี้ นักดาราศาสตร์ได้พบดาวฤกษ์เกิดใหม่มากกว่า 50 ดวง ที่มีมวลคล้ายดวงอาทิตย์ของเรา พร้อมกับรายละเอียดแบบใกล้ชิดจากอุปกรณ์ NIRCam ที่สำรวจในช่วงอินฟราเรดใกล้ ที่เผยให้เห็นฝุ่นก๊าซของไฮโดรเจนจากดาวฤกษ์เกิดใหม่เหล่านี้พุ่งออกมาไขว้กันในมุมขวาบน (ฝุ่นสีแดงในภาพ) ส่วนฝุ่นก๊าซเรืองสว่างในมุมล่างนั้นมาจากดาวฤกษ์ S1 ซึ่งเป็นดาวเพียงดวงเดียวในรูปนี้ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, Klaus Pontoppidan (STScI)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising