×

กล้องเจมส์ เว็บบ์ พบกาแล็กซีแห่งใหม่ที่อยู่ไกลจากโลกที่สุด

01.06.2024
  • LOADING...
James Webb Space Telescope

นักดาราศาสตร์พบกาแล็กซีไกลโลกที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา จากภาพถ่ายอวกาศห้วงลึกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

กาแล็กซีดังกล่าวมีชื่อว่า JADES-GS-z14-0 มีค่าการเลื่อนไปทางแดง หรือค่า Redshift (z) ประมาณ 14.32 เท่ากับแสงที่เราเห็นจากดาราจักรแห่งนี้ ใช้เวลานานกว่า 13,500 ล้านปีเพื่อเดินทางมาถึงโลก ทำลายสถิติเดิมของกาแล็กซี JADES-GS-z13-0 ที่มีค่า z เพียง 13.2

 

แสงที่เราเห็นในภาพถ่ายจากอุปกรณ์ NIRCam ของเจมส์ เว็บบ์ คือสภาพของกาแล็กซีเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 290 ล้านปี และเป็นดาราจักรที่ค่อนข้างสว่างเมื่อเทียบกับกาแล็กซีอื่นๆ ในยุค ‘รุ่งอรุณของจักรวาล’ หรือ Cosmic Dawn ซึ่งทำให้นักดาราศาสตร์ค่อนข้างสนใจ

 

สเตฟาโน คาร์เนียนี หัวหน้าคณะวิจัยที่ตรวจพบกาแล็กซีแห่งนี้ ระบุว่า “ในเดือนมกราคม 2024 อุปกรณ์ NIRSpec ตรวจดูกาแล็กซีแห่งนี้นานกว่า 10 ชั่วโมง และนอกจากการพบว่าเป็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลสุดเป็นสถิติใหม่แล้ว ข้อมูลสเปกตรัมยังพบว่า JADES-GS-z14-0 เป็นดาราจักรที่สว่างมากๆ

 

“แสงที่เราเห็นมาจากดาวฤกษ์อายุน้อยในกาแล็กซี ที่อาจมีมวลรวมกันหลายร้อยล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่งนั่นทำให้เกิดคำถามต่อว่า กาแล็กซีที่สว่าง มหึมา และกว้างใหญ่เพียงนี้ สามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 300 ล้านปีแรกของเอกภพได้อย่างไรกัน?”

 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2021 พร้อมกับภารกิจสำรวจช่วงเวลา ‘รุ่งอรุณของจักรวาล’ เพื่อตรวจดูแสงจากกาแล็กซีแห่งแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในเอกภพ ในช่วงประมาณ 100 ล้านปีหลังการเกิดบิ๊กแบง และใช้ประโยชน์จากการสำรวจในช่วงคลื่นอินฟราเรด เพื่อดูแสงดาราจักรยุคแรกที่ถูกเลื่อนไปทางแดง จากการขยายตัวของเอกภพ

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของการค้นพบดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการ Peer-review หรือเป็นการตรวจทานโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสายงานเดียวกัน ก่อนได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเป็นลำดับถัดไป

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, B. Robertson (UC Santa Cruz), B. Johnson (CfA), S. Tacchella (Cambridge), P. Cargile (CfA)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising