×

5 กลยุทธ์ ‘แจ่วฮ้อน’ จากหม้อไฟบ้านๆ สู่ซุปก้อนโกอินเตอร์

14.05.2025
  • LOADING...
jaew-hon-instant-soup-global-strategy

ใครจะคิดว่า ‘แจ่วฮ้อน’ เมนูหม้อไฟร้อนๆ จากอีสาน จะกลายเป็น ‘ซุปก้อนสำเร็จรูป’ ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป

 

ด้วยฝีมือของ จิราภรณ์ สงคราม ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ‘ยกซด’ ที่เริ่มต้นจากร้านแจ่วฮ้อนเล็กๆ สู่การคิดค้นสูตรน้ำซุปลงซอง ก่อนจะปั้นธุรกิจให้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำซุปแจ่วฮ้อนรายสำคัญของประเทศ 


และนี่คือ 5 สูตรลับเบื้องหลังความสำเร็จ ที่ทำให้แจ่วฮ้อนธรรมดาๆ กลายเป็นซุปก้อนที่มีตัวตนในตลาดโลก

 

เจาะ ‘ช่องว่างตลาด’ ด้วยจุดขายเฉพาะตัว

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เทรนด์หม้อไฟหรือ Hotpot กำลังเป็นที่นิยมทั่วเอเชีย ทั้งชาบูญี่ปุ่น หมาล่าจากจีน และหม้อไฟเกาหลี ต่างถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำซุปสำเร็จรูปพร้อมวางขายทั่วโลก แต่เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยกลับมีเพียง ‘น้ำซุปต้มยำ’ เท่านั้นที่ถูกหยิบไปต่อยอด 

 

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียให้จิราภรณ์มองเห็นช่องว่างของตลาดและโอกาสใหม่ ว่า หากน้ำซุปต้มยำติดตลาดได้ ‘แจ่วฮ้อน’ หม้อไฟอีสานที่มีรสชาติเฉพาะตัว และเป็นจุดแข็งของร้านอยู่แล้ว ทำไมจะต่อยอดให้กลายเป็นน้ำซุปซองเพื่อส่งออกไม่ได้

 

ในเวลานั้นยังไม่มีผู้ผลิตรายไหนจับตลาดน้ำซุปแจ่วฮ้อนแบบสำเร็จรูป จิราภรณ์จึงเริ่มลงมือพัฒนาสูตรอย่างจริงจัง เพื่อเปลี่ยนเมนูท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าพร้อมขาย และมองไกลถึงการส่งออกต่างประเทศตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มต้น

 

ปรับรสให้แมส แต่ไม่ลืมความเป็นอีสาน

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสูตรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแจ่วฮ้อนต้นตำรับอีสานแท้จะมีรสจัด เค็ม เผ็ด และมีกลิ่นสมุนไพรชัด อาจไม่ถูกปากผู้บริโภคในวงกว้าง

 

จิราภรณ์จึงเลือกปรับสูตรให้กลมกล่อมขึ้น หาค่ากลางของรสชาติที่ทำให้ทุกคนสามารถทานน้ำซุปแจ่วฮ้อนได้อย่างมีความสุข ลดความเค็มลง แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของแจ่วฮ้อน นั่นก็คือ ‘กลิ่นหอมของเครื่องสมุนไพรไทย’ ทั้งกระเทียม ข่า หอมแดง และพริกสด ที่เพียงแค่เปิดซองน้ำซุปก็รับรู้ได้ทันทีว่านี่คือ แจ่วฮ้อนต้นตำรับอีสานแท้

 

คนไทยในต่างแดน คือ ‘กองทัพมดที่สำคัญ’

 

การส่งออกน้ำซุปแจ่วฮ้อน ภายใต้แบรนด์ยกซด ไม่ได้เริ่มจากดีลใหญ่หรือ Distributor นำเข้า แต่เริ่มจาก ‘คนไทยในต่างประเทศ’ ที่คิดถึงรสชาติแจ่วฮ้อนอีสาน สั่งซื้อไปทานเอง เมื่อถูกใจจึงเริ่มบอกต่อปากต่อปาก บางคนโพสต์รีวิวในโซเชียลมีเดีย บางคนแนะนำซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียใกล้บ้านให้ลองนำเข้า 

 

กลุ่มลูกค้าคนไทยเหล่านี้ จึงเป็นเหมือน ‘กองทัพมด’ ที่ช่วยกระจายสินค้าในลักษณะล็อตเล็กๆ ไปสู่สายตาชาวต่างชาติ จนวันนี้ยกซดได้คู่ค้าเป็นผู้จัดจำหน่ายจากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป

 

เลือกพาร์ตเนอร์ที่ใช่ ดีกว่าลุยเพียงลำพัง

 

การเข้าใจกฎหมาย มาตรฐานการผลิต รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศปลายทาง เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้


จิราภรณ์ให้เคล็ดลับว่า ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ให้เลือก ‘จับมือกับพาร์ตเนอร์’ ที่มีประสบการณ์ตรงในตลาดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า หรือที่ปรึกษาด้านการขึ้นทะเบียนอาหาร จะทำให้การขยายตลาดไปต่างประเทศง่ายขึ้น และมั่นคงกว่าการลุยเพียงลำพัง

 

OTOP ไม่ใช่เส้นชัย แต่เป็นโอกาสต่อยอด

 

การได้ติดดาว OTOP ไม่ใช่ปลายทาง แต่คือโอกาสสำคัญที่เปิดประตูสู่ผู้เล่นในตลาดหลากหลาย ทั้งในภาครัฐและเอกชน


จิราภรณ์ใช้โอกาสจากโครงการนี้สร้างคอนเน็กชันกับเครือข่ายใหม่ๆ ขยายโอกาสทางธุรกิจ และทำให้สินค้าเข้าสู่ช่องทาง Modern Trade ได้อย่างมั่นคง จากน้ำซุปแจ่วฮ้อน พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างซุปก้อนแจ่วฮ้อน ซอสกะเพรา และซอสกระเทียมพริกไทย ค่อยๆ ขยับเข้าสู่ Makro, Lotus’s, CJ More, Big C ไปจนถึง 7-Eleven ได้ในที่สุด 

 

📌 ถ้าอยากรู้เคล็ดลับคิดให้ไกล ส่งออกได้จริงแบบนี้อีก เจอกันที่งาน The Secret Sauce Business Weekend อีสาน 2025 กับ จิราภรณ์ สงคราม ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ยกซด ใน Business Matching Party วันที่ 4 กรกฎาคมนี้

 

🚨 บัตรมีจำนวนจำกัด https://bit.ly/tssbwKeyJH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising