×

ส่องปัจจัยหนุน 3 หุ้นเด่น ‘IVL-BAM-TKN’ ชนวนเหตุราคาพุ่ง วอลุ่มแน่น

03.12.2020
  • LOADING...
ส่องปัจจัยหนุน 3 หุ้นเด่น ‘IVL-BAM-TKN’ ชนวนเหตุราคาพุ่ง วอลุ่มแน่น

หุ้นไทยวันนี้​ (3 ธันวาคม) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,438.32 จุด เพิ่มขึ้น 20.37 จุด หรือ 1.44% มูลค่าการซื้อขาย 82,632.79 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย จากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในภูมิภาค 

 

สำหรับหุ้นที่เคลื่อนไหวโดดเด่นในวันนี้มี 3 บริษัทหลักๆ คือ หุ้น บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และ บมจ. เถ้าแก่น้อย (TKN) ซึ่งราคาหุ้นต่างปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นตั้งแต่ช่วงเปิดการซื้อขายรอบเช้าและต่อเนื่องตลอดทั้งวัน 

 

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายต่อวันของหุ้นทั้ง 3 บริษัทที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น มาจากสาเหตุใดบ้าง

 

นักวิเคราะห์ระบุ IVL พื้นฐานไม่เปลี่ยน 

ปรินทร์ นิกรกิตติโกศล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล. หยวนต้า กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยยังคงมีมุมมองต่อปัจจัยพื้นฐานหุ้น IVL เช่นเดิม โดยมองแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปีนี้จะดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจาก 

 

  1. โรงงาน IODs ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน กลับมาเป็นปกติแล้ว 
  2. การฟื้นตัวของธุรกิจ Fiber หนุน จากปริมาณขายที่คาดเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 ล้านตัน จากโรงงานที่กลับมาผลิตปกติ และความต้องการสินค้า Fiber ที่ฟื้นตัว 

 

ส่วนระยะยาว ในครึ่งแรกปี 2564 คาดว่าผลประกอบการฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนจากการกลับมาผลิตของโรงงาน Olefins Cracker ตั้งแต่ต้นปี 2564, อุปสงค์ Fiber ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และการเข้าสู่ไฮซีซันของธุรกิจ PET ในไตรมาส 2 ปีหน้า นอกจากนี้ยังมี Upside จากการบันทึกเงินเคลมประกันภัยจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าและเฮอริเคน

 

ปรินทร์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น IVL ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วอาจเป็นการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด (ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563) ซึ่งปรากฏชื่อ สถาพร งามเรืองพงศ์ ซึ่งป็นนักลงทุน VI ที่หลายคนรู้จัก เป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 4 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 1.49% 

 

BAM บวกรับคาดการณ์ ‘สถาบันซื้อเพิ่ม’

ขณะที่หุ้น BAM กลับมามีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นอีกครั้งในวันนี้ หลังจากช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายบางลงไป 

 

โดยหนึ่งในกระแสข่าวที่หนุนให้ BAM ได้รับความสนใจเพิ่มคือ คาดการณ์หุ้นที่จะได้รับการนำเข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 รอบใหม่ ซึ่งจะประกาศในกลางเดือนนี้ ซึ่ง BAM เป็นหนึ่งในคาดการณ์ (อ้างอิงจากฝ่ายวิเคราะห์ บล. ทรีนีตี้) จึงเกิดความคาดหวังว่าหุ้น BAM จะได้รับความสนใจเข้าลงทุนจากนักลงทุนสถาบันเพิ่ม 

 

ในส่วนปัจจัยพื้นฐาน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์ ระบุว่า สำหรับหุ้น BAM ยังมองเห็น Downside Risk ของเงินปันผลจ่ายจากที่ตลาดคาด (1 บาทต่อหุ้น) มาจาก 

 

  1. การบันทึก DTA ที่บริษัทเผยว่า ผู้สอบบัญชีมีแนวคิดที่จะไม่บันทึกในรูปแบบกำไรพิเศษด้วยจำนวนที่มีอยู่ราว 5 พันล้านบาท เพราะเห็นว่า DTA ดังกล่าวไม่เกิดในรอบบัญชีปัจจุบัน และทยอยบันทึกย้อนหลังในงบดุลผ่านกำไรสะสมแทน ซึ่งมองว่าจะมีความไม่แน่นอนต่ออัตราเงินจ่ายปันผล (Payout Ratio) ที่ต้องปรับให้สูงกว่า 100% เนื่องจากบริษัทมีกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก ปี 2563 เพียง 1,133 ล้านบาท หรือ 34% ของประมาณการกำไรปี 2563 

 

  1. ความชัดเจนในแง่ของจังหวะเวลาที่ยังคงไม่ชัดเจน และอาจใช้เวลาอีกราว 1-2 ไตรมาส จึงอาจบันทึกไม่ทันในปีนี้

 

ส่วนในไตรมาส 4 ปีนี้ BAM อยู่ระหว่างการปิดดีลขายทรัพย์กลาง-ใหญ่ ทั้ง NPL / NPA รวมกันกว่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำไรปกติฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และยอดเงินเรียกเก็บ ณ สิ้นปี ตามเป้า 1.2 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีประเด็นเรื่องสภาพคล่องในการซื้อหนี้เสียเพิ่ม-จ่ายปันผล ซึ่งจะทำให้ราคายังยืนอยู่ได้ 

 

หุ้น TKN วิ่งรับสินค้าใหม่ ‘ชานมไต้หวัน’ 

เมื่อไม่นานนี้ TKN ได้เปิดตัวสินค้าใหม่คือ ชานมยี่ห้อ ฉุน ชุ่ย เฮอ หรือ Just Drink ซึ่งบริษัทซื้อสูตรมาจากไต้หวัน โดยนำมาวางจำหน่ายผ่าน 7-Eleven และได้รับกระแสตอบรับในโซเชียลมีเดียค่อนข้างดี 

 

จิระพงษ์ สันติภิรมย์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ ระบุว่า ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตกว่าปี 2562 ที่ 5.29 พันล้านบาท จากการมองภาพรวมของสถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นไป ทำให้สามารถทำการตลาดและการขายได้เต็มที่ ประกอบการเตรียมขยายตลาดในประเทศจีนเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มช่องทางการขายผ่านร้านค้าทั่วไปและออนไลน์เข้ามาเสริม จากปัจจุบันเน้นขายเฉพาะช่องทางโมเดิร์นเทรด

 

ในปี 2564 บริษัทจะเพิ่มสินค้าในกลุ่ม Seasoning ในประเทศจีนเข้ามาอีก 2-3 SKU ซึ่งเป็นสินค้ารสชาติใหม่ๆ ที่ลูกค้าจีนนิยม และลูกค้ามีความต้องการสั่งซื้อ จากปัจจุบันที่เริ่มนำเสนอสินค้า Seasoning ในประเทศจีนไปแล้ว 6 SKU โดยที่ตลาดในประเทศจีนถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการขยายตัวดีมาก และปัจจุบันยอดขายสามารถฟื้นกลับมาหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนเริ่มคลี่คลายลง และอีกประเทศคือ สหรัฐฯ บริษัทจะผลักดันการเติบโตของยอดขายในสหรัฐฯ ปี 2564 ให้เพิ่มขึ้นอีก 30-40% จากปีนี้

 

ส่วนการรุกตลาดสินค้า Co-Brand ร่วมกับ ORION พันธมิตรของบริษัทในประเทศเกาหลีใต้และรัสเซีย ถือว่ามีความล่าช้าออกไปจากเดิมที่จะเริ่มทดลองตลาดในไตรมาส 3/63 ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์โควิด-19 ของทั้งสองประเทศได้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ทำให้การทดลองตลาดในเกาหลีใต้และรัสเซียได้เลื่อนออกไปอีก 3 เดือน ส่งผลให้ยอดขายที่เข้ามาจากทั้งสองประเทศเกิดความล่าช้าออกไปบ้าง แต่ถือว่าไม่กระทบต่อภาพรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X