×

‘อินโดรามา’ ปรับแผนครั้งใหญ่ ‘ปั๊มเงินสด-ลดหนี้’ หลังมาร์เก็ตแคปหาย 1 แสนล้านบาท

01.04.2024
  • LOADING...
อินโดรามา

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL ร่วงจาก 50 บาท มาแตะระดับ 22 บาท ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่เคยสูงเกือบ 3 แสนล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน 

 

แม้ IVL จะยังมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PET) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังคงเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 30 อันดับแรกของไทย แต่จากความท้าทายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ IVL จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่

 

“What got us here, is not the way forward.” หรือ “อะไรที่เคยพาเรามาถึงจุดนี้ไม่ใช่หนทางเพื่อมุ่งสู่อนาคต” เป็นประโยคที่ อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท IVL กล่าวไว้ระหว่างการสัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH 

 

อาลกเล่าถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งความท้าทายของ IVL ในปัจจุบันให้ฟังว่ามาจากทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงเฉลี่ยเพียงประมาณ 1% ต่อไตรมาส ขณะที่อุปสงค์ต่อน้ำมันที่ใกล้ถึงจุดพีคในยุโรปจะทำให้วัตถุดิบตั้งต้นของบริษัทบางส่วนสูงขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน หนึ่งในกลยุทธ์ที่ IVL ใช้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือการเพิ่มกำลังการผลิตและขยายขอบเขตธุรกิจออกไปผ่านการซื้อกิจการ แต่ปัจจุบันต้นทุนการเงินทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมา 2-3 เท่าจากในอดีต 

 

ทำให้กลยุทธ์สร้างการเติบโตของ IVL ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา จนทำให้บริษัทมีรายได้ถึง 6.65 แสนล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 7.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2565 อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว 

 

สิ่งที่บริษัทจะมุ่งทำหลังจากนี้คือการลดหนี้ โดยตั้งเป้าลดหนี้สินสุทธิที่มีอยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ให้ลงมาเหลือ 1.5 แสนล้านบาทภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยให้หนี้สินต่อ EBITDA ลดลงต่ำกว่า 3 เท่า การลดหนี้จะมาจากทั้งการปรับการดำเนินงาน และการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดอิสระให้กับบริษัท 

 

การเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ส่วนหนึ่งจะมาจากการนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เบื้องต้นมี 2 ธุรกิจที่บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณา คือ 1. ธุรกิจ IOD downstream หรือธุรกิจผลิตสารลดแรงตึงผิว ซึ่งมีแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอเมริกา และ 2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขวดพลาสติก (PET) จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย โดยทั้งสองธุรกิจนี้คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 3.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2568

 

“การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ทำให้เราต้องคอยถามตัวเองอยู่ตลอดว่า เงินทุกดอลลาร์ที่จะจ่ายออกไปนั้นคุ้มค่า และมั่นใจได้ว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” 

 

นอกจากนี้ บริษัทจะปรับลดงบลงทุนจากราว 2.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2566 ลงมาเหลือประมาณ 1.9-2.3 หมื่นล้านบาท 

 

หลังการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ บริษัทตั้งเป้าหมาย EBITDA ในปี 2569 ว่าจะอยู่ที่ราว 2.1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากปีก่อน 

 

มุมมองนักวิเคราะห์

 

บล.ทิสโก้ ระบุว่า การกำหนดเป้าหมายการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-core Assets) ของ IVL ผู้บริหารตั้งเป้าที่จะสร้างมูลค่ารวม 300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท จากการขายสินทรัพย์ที่ไม่เติบโต 

 

โดยสินทรัพย์หลักในแผนการขายเงินลงทุนนี้ ได้แก่ โครงการคอร์ปัส คริสตี ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งได้รับความเสียหายเมื่อเร็วๆ นี้ นอกเหนือจากนี้ เราเชื่อว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการขายออกไปนั้นอยู่ในโรงงานผลิต PTA ของ EMEA รวมถึงโรงงานผลิต PTA แบบ Mothballed ในโปรตุเกส เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพสำหรับความท้าทายระยะยาวในตลาด PTA จากกำลังการผลิต การเพิ่มเติมและต้นทุนพาราไซลีน (PX) ที่สูงขึ้นเชิงโครงสร้าง

 

อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรี พัฒนสิน มีมุมมองในเชิงลบต่อ IVL ในระยะสั้น โดยประเมินว่ากลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทที่มุ่งลดต้นทุนจะเห็นประโยชน์ในระยะกลางถึงยาว แต่ระยะสั้นต้องเผชิญต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากทำให้สินทรัพย์เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงโอกาสตั้งด้อยค่าสินทรัพย์บางส่วน 

 

ขณะที่การ Spin-off ธุรกิจ IOD และ CPET บางส่วนยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว คาดว่าจะคืบหน้าในปี 2568-2569 และช่วงต้นของการแปลงบริษัทเป็นมหาชนอาจทำให้ดอกเบี้ยจ่ายที่ประหยัดได้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยกำไรที่ต้องปันส่วนออกไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X