×

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ กับพวก 4 ราย ออกใบอนุญาตโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ เหตุคดีขาดอายุความ

โดย THE STANDARD TEAM
13.05.2024
  • LOADING...
อิทธิพล คุณปลื้ม

วันนี้ (13 พฤษภาคม) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 49/2566, อท 52/2566, อท 54/2566, อท 55/2866 และ อท 61/2566 ซึ่งสำนวนคดีทั้ง 5 ศาลสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 49/2566

 

ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง วุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ, อภิชาติ พืชพันธ์, สุธีร์ ทับหนองฮี, ชานนทร์ เกิดอยู่, ชัยวัฒน์ แจ้งสว่าง, วิทยา ศิรินทร์วรชัย, พิเชษฐ อุทัยวัฒนานนท์, ญัติพงค์ อินทรัตน์, เอกพงษ์ บุญชาย ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาที่อยู่ในกลุ่มพิจารณาออกใบอนุญาติก่อสร้าง และ อิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา เป็นจำเลยที่ 1-10

 

โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6-10 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

 

กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

จำเลยทั้ง 10 ให้การปฏิเสธ ศาลกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ประการ

 

ประเด็นที่ 1 มูลคดีนายกเมืองพัทยาและพวกออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด โดยจำเลยที่ 6-10 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

 

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า บริษัท บาลี ฮาย จำกัด มีวัตถุประสงค์จะใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่ว่าง โดยอ้างว่าเป็นที่ครอบครอง เพื่อไม่ให้พื้นที่โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ติดทางสาธารณะ 2 ด้าน อันจะทำให้อาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างไม่ถูกจำกัดความสูงในด้านที่ติดกับถนนสาธารณะภายในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวและถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และไม่มีสิทธิยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง เพราะด้านที่ติดถนนในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ดังกล่าว ซึ่งแคบกว่าถนนพัทยาสาย 3 ตัวอาคารมีความยาวเกินกว่ากฎหมายกำหนด คำขออนุญาตก่อสร้างยื่นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551

 

จำเลยที่ 10 มีคำสั่งออกใบอนุญาตเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงเชื่อว่ากระบวนการทำคำสั่งของจำเลยที่ 9, 8, 6, 7 และ 10 ตามลำดับชั้น มีการพิจารณารายละเอียดคำขออย่างครบถ้วน

 

แต่จำเลยที่ 6-10 กลับไม่แสดงให้เห็นเลยว่ามีการพิจารณารูปทรงอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างมีความเหมาะสมกับพื้นที่โครงการหรือไม่ อาคารที่สร้างมีขนาดใหญ่พิเศษ มีด้านกว้างในส่วนที่ใกล้กับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ขนาดความกว้างประมาณ 90 เมตร มีความสูงประมาณ 180 เมตร จึงเห็นได้โดยชัดว่าจะต้องบดบังเขาพัทยาอย่างแน่นอน

 

แม้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะไม่แสดงข้อมูลนี้อย่างชัดเจน เมืองพัทยามีหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 9, 8, 6, 7 เป็นพนักงานเมืองพัทยา จำเลยที่ 10 เป็นนายกเมืองพัทยา ย่อมต้องทราบสภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองพัทยา และต้องมีแผนงานและเป้าหมายให้การก่อสร้างอาคารสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามอำนาจหน้าที่ เมื่ออาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการบดบังเขาพัทยาที่จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของเมืองพัทยา

 

จำเลยที่ 9, 8, 6, 7 และ 10 จึงปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำร่วมกันโดยมุ่งหมายให้เป็นผลสำเร็จจนถึงวันที่จำเลยที่ 10 มีคำสั่งออกใบอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้ง 5 มีเจตนาให้เมืองพัทยาได้รับความเสียหาย เพราะการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษตามคำขอย่อมมีผลกระทบต่อภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก และการอนุญาตให้บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ก่อสร้างอาคารโดยมีพื้นที่ใช้สอยมากเกินกว่าที่จะมีสิทธิยื่นคำขอโดยชอบตามกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎกระทรวง

 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตามบทบัญญัติความผิดตามมาตรา 157 ในส่วนการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา การกระทำของจำเลยที่ 9, 8, 6, 7 และ 10 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

ประเด็นที่ 2 ฟ้องโจทก์ประเด็นที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 6-10 ขาดอายุความหรือไม่

 

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดีภายในวันที่ 10 กันยายน 2566 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6-10 เกินระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

 

กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยการนำบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 5 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 6-10 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 แต่คดีขาดอายุความแล้ว จึงต้องยกฟ้องโจทก์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

 

ประเด็นที่ 3 มูลคดีที่รักษาการนายกเมืองพัทยาและพวกต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด จำเลยที่ 1-6 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

 

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า กรณีที่จำเลยที่ 5, 4, 3, 2 ซึ่งทำความเห็นเพื่อมีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เมืองพัทยามีการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่ไม่แล้วเสร็จในลักษณะการทบทวนเหตุผลที่จะออกใบอนุญาตฉบับใหม่ แม้บริษัท บาลี ฮาย จำกัด จะอ้างเหตุประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะขาดเงินลงทุน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองความปลอดภัยของการใช้อาคาร

 

การกระทำของจำเลยที่ 5, 4, 3, 2, 1 จึงมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เมืองพัทยา และในส่วนของจำเลยที่ 6 รู้อยู่แล้วว่าการออกใบอนุญาตกระทำโดยไม่ชอบ การเสนอให้ต่ออายุใบอนุญาตจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ใบอนุญาตนั้นมีผลใช้บังคับต่อไป อันเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่เมืองพัทยามาแต่ต้น

 

การกระทำของจำเลยที่ 5, 4, 3, 2, 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้เมืองพัทยาได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้ง 6 นี้จึงเป็นการกระทำความผิดเพื่อให้มีผลเป็นการต่ออายุใบอนุญาตแก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด

 

แต่เนื่องจากการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด กระทำโดยไม่ชอบ จึงต้องถือว่าไม่มีใบอนุญาตที่จะเป็นเหตุให้พนักงานเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยามีหน้าที่พิจารณาต่ออายุ ดังนั้นเฉพาะการกระทำของจำเลยที่ 5, 4, 3, 2, 1 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างมาแต่ต้น จึงกระทำโดยมุ่งต่อผล ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดตามฐานความผิดดังกล่าว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะไม่มีใบอนุญาตอันเป็นเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำ (ใบอนุญาตที่ออกให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย)

 

ซึ่งทำให้จำเลยดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ การกระทำของจำเลยที่ 5, 4, 3, 2, 1 จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81

 

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-5 ตามสำนวนคดีที่หนึ่งมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานพยายามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ที่เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้

 

จำเลยที่ 6 ตามสำนวนคดีที่สอง มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1-5 ตามกฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด

 

ให้จำคุกจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ลงโทษปรับจำเลยที่ 1, 2, 3 คนละ 50,000 บาท และให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 20,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยที่ 6 ไว้ 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6-10 ในสำนวนที่สาม สี่ และห้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X