ในปี 2023 ไม่มีนักกีฬาคนใดที่จะโด่งดังมากไปกว่า โชเฮ โอตานิ (Shohei Ohtani) สุดยอดนักเบสบอลชาวญี่ปุ่น เจ้าของสมญา ‘Sho-Time’ อีกแล้ว
เพราะนอกจากการทุบสถิติในสนามเป็นว่าเล่นแล้ว โอตานิยังสร้างชื่อในฐานะนักกีฬาที่รับรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยสัญญามหาศาลถึงกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 24,200 ล้านบาท ในการเซ็นสัญญากับทีมเบสบอลแอลเอ ดอดเจอร์ส (LA Dodgers) ในเมเจอร์ลีกเบสบอล (Major League Baseball: MLB) เป็นระยะเวลา 10 ปี
มูลค่าของสัญญานั้นสูงกว่านักกีฬาระดับโลกผู้มีชื่อเสียงที่ทุกคนรู้จักอย่าง ลิโอเนล เมสซี, คริสเตียโน โรนัลโด, ลูอิส แฮมิลตัน ไปจนถึงสตีเฟน เคอร์รี เลยทีเดียว
ทำไมนักเบสบอลคนนี้ถึงกลายเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ได้? และอะไรที่อยู่เบื้องหลังของการเจรจาที่บอกได้ว่า ‘จีเนียส’ สุดๆ ครั้งนี้? มาชวนหาคำตอบไปด้วยกัน 🙂
เบื้องหลังดีลสุดจีเนียส
สิ่งที่ทำให้การเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองมากยิ่งขึ้นคือรายละเอียดของสัญญาที่น่าทึ่ง ซึ่งสิ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมากคือเรื่องของการชะลอการจ่ายเงิน (Deferred Contract) เป็นระยะเวลา 10 ปี
โดยในช่วง 10 ปีแรกโอตานิจะรับเงินค่าจ้างเพียงแค่ปีละ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 69 ล้านบาท แต่เมื่อครบ 10 ปีแล้วเขาจะได้รับเงินตามสัญญาปีละ 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,300 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน
เงื่อนไขการชะลอการจ่ายนี้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่แฟนกีฬาทั่วโลกอย่างมาก ยกเว้นก็เพียงแต่แฟนเบสบอล MLB ที่รู้และเข้าใจในเรื่องนี้ว่าไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่อะไร เพราะในวงการเบสบอลมีสัญญาแบบนี้ให้เห็นมาก่อน
นักเบสบอลที่เคยทำสัญญาแบบนี้คือ บ็อบบี้ โบนิลญา ที่ยังคงรับเงินค่าจ้างจากนิวยอร์ก เจ็ตส์ ทีมเก่าอยู่ปีละ 1.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสัญญาชะลอการจ่ายเงินนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2011-2035 นั่นหมายถึงโบนิลญาจะได้รับเงินไปจนกระทั่งอายุ 72 ปี
สำหรับโอตานิเขาไม่ได้คาดหวังอะไรแบบนั้น เพียงแต่การเซ็นสัญญาแบบนี้ทำให้เขาสามารถที่จะวางแผนในการประหยัดค่าภาษีที่สูงลิบของรัฐแคลิฟอร์เนียได้มหาศาล มีการคำนวณกันคร่าวๆ ว่าโอตานิอาจประหยัดเงินภาษีได้มากถึง 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,100 ล้านบาท
โดยที่ในแง่ของการ ‘สร้างภาพลักษณ์’ มูลค่าทางการตลาดของเขาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในฐานะนักกีฬาผู้ทำเงินรายได้สูงสุดจากสัญญาอาชีพ
โอตานิชนะใครบ้าง?
- คีลิยัน เอ็มบัปเป (ฟุตบอล, 630 ล้านยูโร)
- ลิโอเนล เมสซี (ฟุตบอล, 550 ล้านยูโร)
- แพทริก มาโฮมส์ (อเมริกันฟุตบอล, 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- นิโคลา โยคิช (บาสเกตบอล, 272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- จอน ราห์ม (กอล์ฟ, 566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ถึงแม้ว่าจะมีการคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของสัญญา 10 ปีว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าต่อปีในสัญญา (Average Annual Value: AAV) ของโอตานิไม่ได้อยู่ที่ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจอยู่ที่ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการทำนายเงินเฟ้อในอีก 10 ปีข้างหน้า (เงินวันนี้มีค่าน้อยกว่าวันหน้า)
แต่ข่าวนั้นออกไปแล้ว เขาได้ชื่อในฐานะนักกีฬาผู้เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว นี่คือชัยชนะอีกสนามของโอตานิ
การลงทุนที่คุ้มเกินคุ้ม
ส่วนที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันคือเรื่องของทีมดอดเจอร์ส ว่าการลงทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
คำตอบคือคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม และถ้าไม่คุ้ม ทอดด์ โบห์ลี ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีด้วย คงไม่กล้าที่จะลงทุนกับโอตานิอย่างแน่นอน
สถานะของดอดเจอร์สถือเป็นหนึ่งในทีมที่ดังที่สุดและใหญ่ที่สุดใน MLB อยู่แล้ว พวกเขามีสัญญาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดระดับภูมิภาคที่สูงที่สุดของ MLB ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.7 แสนล้านบาท
การได้นักเบสบอลที่ว่ากันว่า ‘ร้อยปีมีคนเดียว’ อย่างโอตานิมาร่วมทีมก็ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงของทีมให้โด่งดังขึ้นไปอีกอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะนักเบสบอลวัย 29 ปีคนนี้ไม่ได้เก่งแค่เรื่องในสนาม แต่ยังสามารถทำงานเป็นเครื่องจักรทำเงินให้แก่ทีมได้อีกด้วย
“เมื่อได้ผู้เล่นมาแล้ว เราก็ย่อมมีอิสระที่จะทำอะไรก็ตามเกี่ยวกับเขา” ผู้เชี่ยวชาญในวงการเบสบอลกล่าว “ดีลนี้ไม่มีขีดจำกัด เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน”
อย่าลืมว่าโอตานิไม่ได้เป็นที่โด่งดังแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่เขายังเป็นขวัญใจของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ และกำลังกลายเป็นขวัญใจของคนทั่วโลกจากผลงานความสำเร็จ ชื่อเสียง และ ‘สตอรี’ เรื่องราวของนักเบสบอลอัจฉริยะผู้เหมือนซามูไรดาบคู่สไตล์ ‘นิโตริว’ ที่เทพทั้งการขว้างและการตี ซึ่งก่อนหน้านี้มีแค่ตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่าง เบ๊บ รูธ คนเดียวที่ทำได้
นั่นหมายถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดสำหรับดอดเจอร์สในการดึงดูดสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีม ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับโอตานิ
มีการประเมินกันว่าดอดเจอร์สจะสามารถทำรายได้จากการได้โอตานิมาร่วมทีมมากกว่า 800-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 27,700-34,600 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 10 ปีนับจากนี้
โดยที่ทีมได้ประโยชน์จากสัญญาชะลอการจ่ายเงินที่จะจ่ายในช่วง 10 ปีนี้เพียงแค่ปีละ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10 ปีแค่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในอีก 10 ปีถัดจากนั้นแค่ปีละ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือรวม 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดตัวเลขกลมๆ แล้วหากดอดเจอร์สทำรายได้จากโอตานิในช่วง 10 ปีนับจากนี้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายเงินค่าจ้างให้เขา 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐจริง ก็คือกำไรแทบจะเท่าตัว
เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องของการที่โอตานิมีโอกาสที่จะทำให้ดอดเจอร์สกลายเป็นเบอร์ 1 ของวงการ คว้าแชมป์มาครอง (เพราะสามารถนำเงินที่ชะลอการจ่ายไปลงทุนกับนักเบสบอลเก่งๆ มาร่วมทีมได้อีก) ที่จะยิ่งทำให้ทีมไปได้ไกลกว่านี้
เบสบอลคือซอฟต์พาวเวอร์
เรื่องสนุกๆ อีกอย่างสำหรับโอตานิ คือการที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทางเกมกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดของญี่ปุ่น
อย่างที่บอกว่าในเรื่องของฝีไม้ลายมือที่เก่งที่สุดในโลกตอนนี้และอาจเก่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันเมื่อถึงเวลาเลิกเล่นจริงๆ) โอตานิยังเป็นนักกีฬาที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ
ความสมบูรณ์แบบนั้นมาจากการวางตัวเป็นมืออาชีพที่ดีมากๆ ทั้งในและนอกสนาม โดยเฉพาะเรื่องนอกสนามที่ไม่มีมลทินอะไรให้มัวหมอง เพราะเจ้าตัวไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เคยมีข่าวอะไรให้เสียหาย
ภาพลักษณ์ที่ดีนอกจากจะทำให้ตัวของเขาเองมีรายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์ (Endorsement) มากถึงปีละ 45-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ (เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021) แล้วเขายังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาลด้วย
คัตสุฮิโระ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคันไซ ได้คำนวณผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโอตานิในปี 2023 ว่ามีมากถึง 50,000 ล้านเยน หรือ 342 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในตัวเลขนี้รวมถึงเงินที่แฟนกีฬาชาวญี่ปุ่นเดินทางไปเชียร์โอตานิที่สหรัฐฯ มากถึง 1,200 ล้านเยน ขณะที่บริษัทในญี่ปุ่นจ่ายเงินรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านเยนสำหรับการโฆษณาในสนามกีฬาของทีมลอสแอนเจลิส แองเจิลส์ ทีมเก่าของโอตานิ
นักกีฬาเบสบอลจากญี่ปุ่นจึงไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องของการทำหน้าที่ในสนาม แต่มีความหมายในการเป็นสินค้าส่งออกด้วย ซึ่งจุดเริ่มต้นมีมายาวนานเกือบ 30 ปี จากฮิเดโอะ โนโมะ เจ้าของสมญา ‘ทอร์นาโด’ ที่เป็นนักเบสบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการไปลุยสหรัฐฯ เมื่อปี 1995 กับทีมดอดเจอร์ส (ทีมเดียวกับโอตานิ) ที่เป็นลีกอันดับ 1 ของโลก ก่อนจะมีอีกหลายคนตามมา รวมถึงโอตานิที่ย้ายไปเล่นในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2017
นักกีฬาเหล่านี้นอกจากจะทำรายได้ให้ตัวเอง ทำรายได้ให้ทีม กระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม ยังเป็นคนที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันกับญี่ปุ่นให้แนบแน่นขึ้นด้วย
ก่อนหน้านั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอยู่ในจุดเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือสินค้าจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นกล้อง โทรศัพท์มือถือ หรือทีวี ต่างหลั่งไหลเข้าไปในอเมริกาเหนือ ทำให้ชาวอเมริกันไม่พอใจจำนวนสินค้าจากญี่ปุ่นที่เข้าประเทศ
แต่ในบรรดาสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น มีแค่โนโมะที่ชาวอเมริกันไม่ติดใจ ขณะที่ทีมกีฬาอเมริกันก็ได้ประโยชน์จากนักเบสบอลชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะบริษัทหรือแบรนด์จากญี่ปุ่นไม่มีแนวคิดที่จะลงทุนทำทีมกีฬาเอง แต่จะใช้วิธีการโฆษณาผ่านทีมแทน
การย้ายไปดอดเจอร์สของโอตานิน่าจะทำให้ทุกอย่างสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องของเกมกีฬา แต่รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่จะทำได้แบบนี้ และนี่แหละคือความมหัศจรรย์ของ ‘Sho-Time’!
ภาพเปิด: Brian Rothmuller / Icon Sportswire via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/business-67376305?utm_source=pocket_reader
- https://www.si.com/mlb/angels/news/shohei-ohtani-news-business-writer-calculates-700-million-worth-for-angels-superstars-next-contract-mw1996
- https://www.sportingnews.com/ca/mlb/news/shohei-ohtani-endorsements-money-dodgers-contract-new-balance/bc904a7f7012efb4b9983f61
- https://www.latimes.com/sports/dodgers/story/2023-12-19/dodgers-shohei-ohtani-billion-dollar-revenue
- https://www.forbes.com/sites/justinbirnbaum/2023/12/09/with-his-700-million-deal-shohei-ohtani-is-set-to-become-mlbs-all-time-earnings-leader/