“มีเจ้าสาวหอยทากซ่อนอยู่เหรอ?” คือคำถามของ โกมุนยอง ในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay อีพี 5 ตอนที่มุนคังแทคีบไข่นกกระทาต้มซอส หรือ เมชู่รีอัลจังโจริม (메추리알장조림) ให้เธอในชาม อาหารวันนี้เป็นฝีมือของ ‘คังซุนด็อก’ ที่ทำให้โกมุนยองประทับใจ เพราะสัมผัสได้ถึงรสมือแม่ที่อบอุ่นและอร่อย
เจ้าสาวหอยทากคือใคร? ถึงทำให้ โกมุนยอง เอ่ยปากว่า “อยากพาเจ้าสาวคนนี้กลับไปอยู่ด้วยจัง”
คำเฉลยของเจ้าสาวหอยทากก็คือ คังซุนด็อก คุณแม่ของนัมจูรี เธอทำงานเป็นแม่ครัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะว่าวันหนึ่งที่มุนคังแทไปดื่มกับโชแจซู คังซุนด็อกก็มาร่วมวงด้วย ระหว่างนั้นโกมุนยองที่รออยู่บ้านก็คลางแคลงใจว่าเขาไปดื่มกับใครมา พอได้ยินคำตอบจากมุนคังแทว่า “แจซูและเจ้าสาวหอยทาก” ก็ทำให้โกมุนยองยิ้มขึ้นมาได้
การที่มุนคังแทเรียกคังซุนด็อกว่า ‘เจ้าสาวหอยทาก’ มาจากนิทานของเกาหลี เรื่องของชายชาวนาที่เจอหอยทาก และเก็บเอาหอยทากตัวนั้นกลับมาบ้านด้วย นับจากวันนั้นหอยทากได้กลายร่างเป็นหญิงสาว แอบทำอาหารเตรียมให้เขาในทุกเช้า และกลับคืนร่างเป็นหอยทากซ่อนอยู่ในโอ่งน้ำ ท้ายที่สุดชายคนนั้นรู้ความจริงจึงขอเธอแต่งงาน พวกเขาเอาชนะอุปสรรคที่ผ่านเข้ามา ก่อนที่จะครองรักกันอย่างมีความสุข
สำหรับตัวละคร คังซุนด็อก หรือ เจ้าสาวหอยทาก ในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay นั้น คือตัวแทนความอบอุ่น ความเป็นแม่ คำตอบที่จริงแท้ของชีวิตซึ่งปลอบประโลมตัวละครในเรื่องด้วยอาหารรสมือแม่ที่คังซุนด็อกใส่ใจลงไปในทุกเมนู อย่างที่เธอบอกเอาไว้ว่า “เวลามีเรื่องลำบากใจ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ไม่ใช่จิตใจ”
EP.3 ‘Sleeping Witch’
“กินเต็มปากเต็มคำไปเลย กินเท่าแมวดมมันถึงได้ขี้ก้างแบบนี้” – คังซุนด็อก
เมนูแรกของเจ้าสาวหอยทากเริ่มต้นจากอีพี 3 ในขณะที่ โกมุนยอง ขับรถเพียงลำพังไปที่ปราสาทต้องสาปและล้มตัวลงบนที่นอนพร้อมพึมพำออกมาว่า “หิวจัง” ตัดภาพมาที่ มุนคังแท ที่กำลังกิน ซัมกยอบซัล (삼겹살) หรือ หมูสามชั้น กับ มุนซังแท, นัมจูรี และโชแจซู โดยมีคังซุนด็อกที่ใส่ใจในชามข้าวของเขา และบอกให้มุนคังแท ‘กินเต็มปากเต็มคำ’ พร้อมกับตักข้าวเพิ่มให้อีกทัพพีใหญ่
การล้อมวงกินซัมกยอบซัลของชาวเกาหลีใต้นั้นนับเป็นภาพชินตาของสาวกซีรีส์ เพราะไม่ว่าเรื่องไหนๆ ก็จะมีการสอดแทรกวัฒนธรรมการกินหมูสามชั้นย่างให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเวอร์ชันทำกินเองที่บ้านหรือในร้านอาหาร
โดยในอีพี 3 นี้ นอกจากซัมกยอบซัลแล้ว คังซุนด็อกยังทำทเวนจังจีเก (된장찌개) หรือ ซุปเต้าเจี้ยว มาให้ซดเพิ่มความคล่องคอ พร้อมกับฉีกกิมจิผักกาดขาวให้เป็นเส้น เพื่อให้สะดวกกับการกินควบคู่กับซัมกยอบซัลอีกด้วย โดยในอีพีนี้พวกเขาเน้นกินซัมกยอบซัลไปพร้อมกับข้าว
EP.9 ‘King Donkey Ears’
อีพีนี้ผู้ชมจะได้เห็นวัฒนธรรมการกินซัมกยอบซัลกับผักด้วยการห่อซัม (쌈) จากการที่ อีซังอิน ป้อน นัมจูรี ด้วยการห่อซัมคำเล็กๆ ให้กับเธอ ซึ่งการห่อซัมนับเป็นหนึ่งในวิธีการกินซัมกยอบซัลของคนเกาหลี ที่มักจะนำผักกาดหรือใบงามาห่อซัมกยอบซัลที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ แนมด้วยเครื่องเคียงตามชอบ และซอสซัมจัง (쌈장) หรือซอสเต้าเจี้ยวปรุงรส ก่อนจะห่อให้มีขนาดพอดีคำและนำเข้าปากในคำเดียว
โดยซัมกยอบซัลนั้นนิยมกินคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างโซจูหรือเบียร์ ดังที่เราเห็นในอีพี 3 ที่โต๊ะของพวกเขามีแก้วเครื่องดื่มวางอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่อีพี 9 นั้น คังซุนด็อกได้ชวนให้ทุกคนดื่มเบียร์คนละแก้วในขณะที่กำลังล้อมวงกินซัมกยอบซัลร่วมกัน
จุดเริ่มต้นการกินซัมกยอบซัลในเกาหลีใต้นั้นไม่ค่อยชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 ที่เกาหลีใต้ส่งออกหมูให้กับประเทศญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนของหมูที่ไม่ได้รับความนิยมในการส่งออกคือส่วนที่ติดมันอย่างซัมกยอบซัล จึงทำให้ในตอนนั้นซัมกยอบซัลมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย รวมถึงในช่วงหลังจากวิกฤตการเงิน IMF หลายบริษัทในเกาหลีใต้ได้นำซัมกยอบซัลมาเป็นหนึ่งในเมนูงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเพิ่มความสามัคคีภายในบริษัท จึงทำให้ซัมกยอบซัลแพร่หลายในเกาหลีมากขึ้น
EP.6 ‘Bluebeard’s Secret’
“ฉันก็ห่วงว่าไปอยู่ที่กันดารแบบนั้นจะหากินได้อิ่มท้องไหม ห่วงจนนอนไม่หลับเลย เพราะฉะนั้นตอนเช้ามืดฉันเลยเอาของที่มีมาผัดๆ ทอดๆ ให้” – คังซุนด็อก
ในอีพี 6 Bluebeard’s Secret เราจะได้เห็นฉากที่คังซุนด็อกทำอาหารกล่องมาที่โรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ พร้อมกับประโยคที่แสดงความเป็นห่วงเป็นใยให้กับมุนคังแทว่า “ฉันก็ห่วงว่าไปอยู่ที่กันดารแบบนั้นจะหากินได้อิ่มท้องไหม” พร้อมกับเปิดกล่องอาหารห้าชั้นของเธอออกมา และเท่าที่กวาดสายตาดูคร่าวๆ คำพูดของคังซุนด็อกที่บอกว่า “เอาของที่มีมาผัดๆ ทอดๆ ให้” นั้นก็ไม่ได้เกินจริงนัก เพราะในแต่ละชั้นประกอบไปด้วย ข้าว, พุลโกกิ (불고기), คเยรันมารี (계란말이) หรือไข่ม้วน, เครื่องเคียงอย่าง กิมจิ, ชีกึมชี่นามุล (시금치나물) หรือผักโขมคลุกน้ำมันงา ฯลฯ
ซึ่งโดยปกติแล้ว ‘เวลาพักกลางวัน’ ของบริษัทต่างๆ ในเกาหลีใต้นั้นจะมีความใกล้เคียงกัน คืออยู่ในช่วงระหว่างเวลา 12.00-13.00 น., 12.30-13.30 น. และ 13.00-14.00 น. ซึ่งจะมีเวลาให้ประมาณ 1 ชั่วโมงไม่แตกต่างจากบริษัทในไทย
โดยบางบริษัทของเกาหลีใต้จะมีสวัสดิการ ‘อาหารกลางวัน’ ให้กับพนักงาน ดังที่เราเห็นในซีรีส์หลายเรื่องที่พนักงานบริษัทจะกินอาหารกลางวันร่วมกันที่ ‘โรงอาหาร’ ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีนักโภชนาการที่ทำงานควบคู่กับแม่ครัวในการสร้างสรรค์เมนูอาหารที่มีคุณค่าและสารอาหารที่พอเพียงให้กับเหล่าพนักงาน
ในขณะที่บริษัทที่ไม่มีสวัสดิการอาหารกลางวัน พนักงานส่วนใหญ่ก็จะเลือกออกไปรับประทานอาหารกลางวันในร้านอาหารบริเวณใกล้เคียง ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้กับย่านธุรกิจก็มักจะมี ‘เซตอาหารกลางวัน’ ที่ทำง่าย เสิร์ฟง่าย กินได้ไวในราคาย่อมเยา (5,000-8,000 วอน) อาทิ ร้านปิ้งย่างที่ในตอนกลางวันจะปิดเตาปิ้งย่างและปรับเปลี่ยนมาขายเมนูอาหารจานเดียวในตอนกลางวัน เป็นต้น
หรืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพนักงานบริษัทที่ต้องการประหยัดค่าอาหารกลางวัน คือการทำ ‘ข้าวกล่อง’ มาเอง อย่างในซีรีส์ที่เราเห็นคังซุนด็อกทำข้าวกล่องมานั้น ไม่ใช่ว่าเธอต้องการประหยัดค่าอาหารกลางวัน เพราะโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์นั้นมีสวัสดิการอาหารกลางวันอยู่แล้ว แต่เธอตั้งใจทำข้าวกล่องพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาให้สองพี่น้องมุนคังแทและซังแทที่เธอเป็นห่วงเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้พวกเขาได้กินอาหารอิ่มท้อง สังเกตได้จากการตักข้าวจนพูนชามให้สองพี่น้อง
EP.10 ‘The Girl Who Cried Wolf’
“ไม่ใช่แม่เพิ่งคลอด แต่อยู่ๆ มาขอให้ต้มซุปสาหร่ายให้ วันเกิดล่ะสิ” – คังซุนด็อก
จากอีพี 10 The Girl Who Cried Wolf ที่ โกมุนยอง ขอให้ คังซุนด็อก ช่วยต้มซุปสาหร่าย หรือ มียอกกุก (미역국) ให้นั้น หลังจากที่คังซุนด็อกจัดโต๊ะอาหารให้เรียบร้อย เธอกล่าวกับโกมุนยองที่นั่งมองอยู่นิ่งๆ ว่า “สุขสันต์วันเกิด… ไม่ใช่แม่เพิ่งคลอด แต่อยู่ๆ มาขอให้ต้มซุปสาหร่ายให้ วันเกิดล่ะสิ” ซึ่งทำให้โกมุนยองเหลือบมองด้วยแววตาหวั่นไหวอยู่วูบหนึ่ง ก่อนที่เธอจะตักซุปขึ้นมาซด และนำข้าวมาคลุกลงไปในชามซุปและตักกิน
สาเหตุที่ทำให้คังซุนด็อกพูดประโยคข้างต้นออกมาเพราะว่า มียอกกุก หรือ ซุปสาหร่าย นั้น เป็นอาหารที่คุณแม่หลังคลอดชาวเกาหลีนิยมรับประทานกัน เนื่องจากสาหร่ายมีแร่ธาตุต่างๆ มากมาย อาทิ แคลเซียมและไอโอดีน ที่จะช่วยบำรุงร่างกาย รวมถึงมียอกกุกยังเป็นหนึ่งในอาหารที่ชาวเกาหลีนิยมรับประทานในวันเกิดคู่กับข้าวสวยหรือถั่วแดงอีกด้วย
ในซีรีส์เราจะเห็นโกมุนยองกล่าวว่าซุปสาหร่ายของเธอนั้นใส่เนื้อวัวด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วมียอกกุกนั้นจะประกอบไปด้วยสาหร่าย (สดหรือแห้ง), เนื้อ (วัว, หมู, หอย, ทูน่ากระป๋อง ฯลฯ ตามชอบหรือตามท้องถิ่น) ปรุงรสด้วยน้ำมันงา ซีอิ๊ว และอาจใส่กระเทียมสับตอนซุปกำลังเดือดเพื่อดับกลิ่นสาหร่ายและช่วยเพิ่มรสชาติของซุป (แล้วแต่สูตร) ซึ่งนิยมกินคู่กับข้าว กิมจิ ฯลฯ เหมือนกับที่คังซุนด็อกได้เตรียมเครื่องเคียงหลากหลายชนิดเอาไว้ให้โกมุนยองบนโต๊ะอาหาร
EP.14 ‘The Hand, The Monkfish’
“ถึงจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เวลาที่มีเรื่องลำบากใจ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ไม่ใช่ด้วยจิตใจ” – คังซุนด็อก
“ถึงจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เวลาที่มีเรื่องลำบากใจ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ไม่ใช่ด้วยจิตใจ” คือประโยคง่ายๆ ที่เคลือบไปด้วยความอบอุ่นของ คังซุนด็อก ที่ตอบคำถามของอีซังอินที่ถามเธอว่าทำ ชูม็อกบับ (주먹밥) หรือ ข้าวปั้น จำนวนมากขนาดนี้ไปให้ใคร ซึ่งคำตอบของคังซุนด็อกก็ทำให้อีซังอินถึงกับน้ำตาคลอกับความห่วงใยที่แฝงอยู่ในข้าวปั้นก้อนกลมๆ ในมือของเธอ
จากอีพี 14 The Hand, The Monkfish ที่คังซุนด็อกจับสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างโกมุนยองและมุนคังแท จึงทำให้เธอเริ่มลงมือปั้นชูม็อกบับ หรือข้าวปั้นก้อนกลมๆ จำนวนมาก เพื่อให้คนทั้งสองที่ตอนนี้กำลังมีปัญหาบางอย่างได้นำมาอุ่นกินง่ายๆ ได้ทันทีจากช่องฟรีซโดยที่ไม่ต้องลงมือจัดการอะไรมาก
โดยคำว่า ชูม็อก (주먹) ในภาษาเกาหลีมีความหมายว่า กำปั้น ในขณะที่คำว่า พับ (밥) ในภาษาเกาหลีมีความหมายว่า ข้าว เมื่อรวมกันเป็น ชูม็อกบับ (주먹밥) จึงมีความหมายตรงตัวว่า ข้าวกำปั้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโอนิกิริของญี่ปุ่น แต่แตกต่างกันที่รูปลักษณ์ ที่ชูม็อกบับจะมีลักษณะกลมมนเหมือนกำปั้น ในขณะที่โอนิกิริจะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม
จากสิ่งที่เห็นในอีพี 14 องค์ประกอบของชูม็อกบับนั้นไม่ซับซ้อน เพียงมีข้าว เกลือ และน้ำมันงา ก็สามารถนำมาทำเป็นชูม็อกบับได้แล้ว ซึ่งการทำชูม็อกบับนั้นไม่มีสูตรหรือขนาดตายตัว ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มี บางคนอาจเลือกใส่หมู ไส้กรอก หรือกิมจิเป็นไส้ ในขณะที่ตัวข้าวอาจจะคลุกเคล้าด้วยฟักทอง แครอต หัวหอม ฯลฯ หั่นเต๋าเล็กๆ ตามชอบ โดยในซีรีส์นั้นน่าจะเป็นชูม็อกบับสอดไส้ทูน่า ที่ปั้นให้มีขนาดใหญ่เพื่อให้อยู่ท้อง ก่อนจะนำมาคลุกกับสาหร่ายแห้งให้ทั่ว แล้วจึงแรปด้วยฟิล์มถนอมอาหารเพื่อคงรูปร่างก่อนนำเข้าช่องฟรีซ
ในอดีตชูม็อกบับมักนิยมนำมารับประทานในรูปแบบของอาหารพกพา ก่อนที่ปัจจุบันชูม็อกบับจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และกลายมาเป็นอาหารยอดนิยมของคนที่ไม่มีเวลารับประทานอาหารนอกบ้าน หรือหากพบเจอตามร้านอาหาร ชูม็อกบับก็มักจะเป็นอาหารมื้อเบาๆ ที่ทางร้านสามารถจัดทำและนำมาเสิร์ฟได้อย่างรวดเร็ว หรือในบางร้านอาจจะเสิร์ฟในรูปแบบของข้าวและส่วนผสมต่างๆ ที่มาพร้อมกับถุงมือพลาสติกให้ลูกค้าได้ปั้นก้อนข้าวกลมๆ ด้วยตัวเอง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.youtube.com/watch?v=ajdft5aQiDU
- https://namu.wiki/w/%EC%82%BC%EA%B2%B9%EC%82%B4
- https://namu.wiki/w/%EC%8C%88
- https://namu.wiki/w/%EC%A0%90%EC%8B%AC%EC%8B%9C%EA%B0%84
- https://namu.wiki/w/%EB%AF%B8%EC%97%AD%EA%B5%AD
- https://www.youtube.com/watch?v=xsTFsunt6-8
- https://namu.wiki/w/%EC%A3%BC%EB%A8%B9%EB%B0%A5