รัฐบาลอิตาลีประกาศภาวะฉุกเฉินใน 5 พื้นที่ทางตอนเหนือรอบแม่น้ำโป หลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 70 ปี
มาตรการฉุกเฉินนี้จะช่วยเปิดทางให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจพิเศษในการรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ครอบคลุมแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา, แคว้นฟรียูลี-เวเน็ตเซียจูเลีย, แคว้นลอมบาร์เดีย, แคว้นปีเยมอนเต และแคว้นเวเนโต ซึ่งจะได้รับเงินราว 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำในเบื้องต้น
รายงานระบุว่า ภัยแล้งครั้งนี้เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติ และปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในระดับต่ำช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ส่งผลให้ทางตอนเหนือของประเทศมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะบริเวณแหล่งเพาะปลูกแถบลุ่มแม่น้ำโป (Po Valley)
สหภาพการเกษตรโคลดิเรตตี (Coldiretti) รายงานว่า ภัยแล้งครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของอิตาลีมากถึง 30% อีกทั้งยังทำให้ฟาร์มกว่าครึ่งในลุ่มแม่น้ำโปได้รับความเสียหาย โดยเกษตรกรรายหนึ่งเปิดเผยว่า น้ำทะเลได้ไหลลงสู่แม่น้ำโป ส่งผลให้พืชผลได้รับความเสียหาย เพราะเกษตรใช้แหล่งน้ำดังกล่าวทดน้ำเข้าแปลงนา ไร่สวน และทุ่งเลี้ยงวัว
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเทศบาลเมืองหลายแห่งของอิตาลีก็ได้ประกาศจำกัดการใช้น้ำ โดยเมืองเวโรนาได้ประกาศปันส่วนการใช้น้ำดื่ม ในขณะที่มิลานปิดใช้งานน้ำพุสำหรับตกแต่งสถานที่ต่างๆ แล้ว
นอกจากนี้ผลจากภัยแล้งยังทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลงอย่างมาก โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในอิตาลี
ด้าน มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี เผยเมื่อวันจันทร์ (4 กรกฎาคม) ว่าภัยแล้งที่เกิดเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) อิตาลีเพิ่งเผชิญเหตุธารน้ำแข็งถล่มในเทือกเขาแอลป์จนมีผู้เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งก็เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งละลายตัวรวดเร็วจนพังถล่มลงมา
แฟ้มภาพ: Andrea Carrubba/Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: