×

‘หุ้นไอที’ ร่วง กังวลข่าวปิดห้าง นักลงทุนรอฟังรัฐแถลงวันนี้

09.07.2021
  • LOADING...
หุ้นไอที

ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มที่มีสาขาในห้างปรับตัวลดลง ท่ามกลางกระแสข่าวการยกระดับมาตรการของ ศบค. ซึ่งมีกระแสข่าวเรื่องการปิดห้างสรรพสินค้า โดยอนุญาตให้เปิดเฉพาะโซนอาหารแบบซื้อกลับ ซูเปอร์มาร์เก็ต และยา

 

จากความกังวลดังกล่าวส่งผลให้หุ้นที่มีสาขาในห้าง เช่น กลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าไอที และกลุ่มร้านอาหาร เคลื่อนไหวอย่างผันผวน และส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง 

 

  • โดยหุ้น COM7 ซื้อขายที่ 65.75 บาท -3.25 บาท หรือ -4.71%
  • CPW ซื้อขายที่ 3.70 บาท -0.06 บาท หรือ -1.60% 
  • JMART ซื้อขายที่ 33.00 บาท -0.50 บาท หรือ -1.49%
  • IT ซื้อขายที่ 4.82 บาท -0.08 บาท หรือ -1.63%
  • BIG ซื้อขายที่ 0.58 บาท -0.02 บาท หรือ -3.33% 

 

นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท โมบาย (Jaymart Mobile) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอความชัดเจนของมาตรการจากทาง ศบค. อยู่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจมาร์ทมีแผนดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดรวมถึงมาตรการปิดห้างไว้แล้ว ซึ่งเป็นแผนงานที่ต่อเนื่องมาจากปี 2563 ในช่วงประกาศปิดห้างสรรพสินค้าในปลายเดือนมีนาคม 2563

 

ประกอบการด้วยการเพิ่งช่องทางขายผ่านออนไลน์ และขายผ่านตัวแทนจำหน่ายของซิงเกอร์ (SINGER) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกัน การเปิดสาขานอกห้างสรรพสินค้า รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ที่เพิ่มความสะดวกในการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในเครือเจมาร์ทได้สะดวกยิ่งขึ้น 

 

โดยเจมาร์ทได้รับการตอบรับด้านออนไลน์ค่อนข้างดี เชื่อว่าปีนี้ยอดขายออนไลน์ราว 250 ล้านบาท คิดเป็นเติบโตขึ้น 150% จากปี 2563 ที่มียอดขายออนไลน์ 100 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ หากมาตรการครั้งนี้เหมือนปี 2563 คือปิดห้างสรรพสินค้า ในระยะเวลาราว 1 เดือนจะกระทบกับรายได้รวมทั้งปีราว 10% 

 

“แม้จะไม่ปิดห้าง แต่ทราฟฟิกในห้างก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะเดือนมิถุนายนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่าทราฟฟิกหายไป 60%” 

 

ด้านบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN กล่าวว่า แม้จะยังไม่แน่ชัดว่ามาตรการรอบนี้จะแก้ไขสถานการณ์การแพร่รบาดของโควิดได้หรือไม่ แต่ประเมินว่าผลกระทบครั้งนี้ (ระลอกเดือนมิถุนายน) น่าจะมากกว่าระลอกอื่นที่ผ่านมา

 

ส่วนการปิดห้างหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่แม้จะไม่มีประกาศปิดห้าง ร้านต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าก็แทบจะปิดหน้าร้านไปแล้วราว 80-90% ซึ่งสะท้อนได้ดีว่าห้างสรรพสินค้ามีทราฟฟิกลดลงอย่างมาก 

 

เขากล่าวเพิ่มว่า วิกฤตรอบนี้ (เดือนกรกฎาคม) ปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการร้านอาหารคือการบริหารจัดการกระแสเงินสด โดยหากเทียบสถานการณ์กับปี 2563 ประเมินว่าทางเครือ ZEN จะยังสามารถใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่รันธุรกิจต่อได้อีก 3 เดือน หากเกินกว่านั้นอาจตัดสินใจกู้เพิ่ม 

 

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ เพราะไม่ได้ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง แล้วยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด รัฐควรไปป้องกันคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า เหมือนกับในยุโรปที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงในมุมมองผู้ประกอบการมองว่าการล็อกดาวน์ถือเป็นการปิดช่องทางคนทำมาหากิน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X